-2-

 

หน้า  1    2

 
 
   

          การที่ปะการังที่มีลักษณะรูปร่างและโครงสร้างต่างๆ มาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้สิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดเข้ามาในบริเวณนี้ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ผู้ล่าเข้ามาคอยหาเหยื่อ เหยื่อเข้ามาใช้เป็นที่พำนักและที่หลบภัย ปลาส่วนใหญ่ที่อาศัยในแนวปะการังจะเป็นปลากินเนื้อ ซึ่งคอยจับเหยื่อที่มีขนาดเล็กกว่าจากด้านบน และเนื่องจากปลาหลายชนิดรู้ดีว่า ด้านบนจะมีผู้ล่าอาศัยอยู่ ทำให้ปลาเหล่านี้จะอาศัยใกล้ๆ กับปะการัง เพื่อคอยหลบหนีจากผู้ล่าเพราะสามารถว่ายน้ำเข้าสู่ซอกเล็กซอกน้อยของปะการังได้ ปะการังที่มีลักษณะเป็นกิ่งก้านจะเป็นแหล่งหลบซ่อนที่ดีสำหรับปลาตัวเล็กๆ เมื่อผู้ล่าหรือศัตรูที่มีขนาดใหญ่กว่าผ่านมา โครงสร้างสามมิติของปะการังนี้จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เมื่อแนวปะการังถูกทำลายจึงมีผลต่อความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยบริเวณนั้น นอกจากนี้ สัตว์ที่กินพืชเป็นอาหารก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในแนวปะการัง โดยเฉพาะหอยเม่น เพราะหอยเม่นจะกินพวกสาหร่ายที่เกิดขึ้นในแนวปะการังทำให้เกิดเป็นพื้นที่ที่ปะการังสามารถเกิดขึ้นใหม่ได้

 

          หน้าที่สำคัญของปะการังคือ เป็นแนวป้องกันชายฝั่งจากการกัดเกาะของคลื่นและกระแสน้ำ เป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ ทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อปะการังในทางตรงและทางอ้อม ปัจจุบัน ประมาณหนึ่งในสามของปะการังทั่วโลกจึงถูกทำลายไปเนื่องจากการใช้ประโยชน์ที่ผิดวิธีหรือจากการใช้ประโยชน์มากเกินไป ปะการังที่ยังคงอยู่ส่วนใหญ่ถึงถูกจัดว่าเป็นปะการังที่มีชีวิตแต่มีความสมบูรณ์ที่ลดน้อยลงจากที่เคยเป็นอยู่บางแห่งก็ถูกทำลายจนไม่อาจฟื้นฟูได้ การประมงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อปะการัง ไม่ว่าเป็นการทำประมงมากเกินกำลังผลิตหรือการทำประมงผิดวิธี การพัฒนาอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งนี้รวมถึงการก่อสร้างอาคารสถานที่ การสร้างท่าเรือ และอื่นๆ บริเวณชายฝั่งเพื่อสนับสนุนการพัฒนาดังกล่าวด้วย

          ภัยธรรมชาติก็เป็นสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งของการทำลายปะการัง โดยเฉพาะพายุที่รุนแรงเป็นต้นเหตุของคลื่นขนาดใหญ่ ดังเช่นเหตุการณ์สึนามิเมื่อปลายปี 2547 ที่ผ่าน จะทำให้ปะการังแตกหักและถูกทำลายในที่สุด การเกิดปรากฎการณ์เอลนีโนหรือปรากฎการณ์โลกร้อนขึ้น ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ปะการังตาย เนื่องจากเมื่ออุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นจะทำให้สาหร่ายเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ในปะการังแยกตัวจากปะการัง ซึ่งเรียกว่า ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว นอกจากนั้น ยังมีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่กินปะการังเป็นอาหาร  เช่น ดาวมงกุฎหนาม และหอยฝาเดียวหลายชนิด
          ปัจจุบันแนวปะการังมีการฟื้นตัว เนื่องจากมนุษย์เริ่มรู้จักการอนุรักษ์และตระหนักถึงความสำคัญของปะการังที่มีต่อระบบนิเวศและต่อสิ่งแวดล้อม มีการวางแนวทางการฟื้นฟูปะการัง รวมถึงการใช้ประโยชน์ปะการังอย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการให้ความรู้แก่ประชาชนในท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมใน

 

 
การดูแลรักษา นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยปัญหาและวิธีการแก้ไข ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นการรักษาปะการังให้คงอยู่และมีคุณค่าต่อไป.

ากหนังสือ  จากยอดเขาถึงใต้ทะเล ธรรมชาติแห่งชีวิต ที่ต้องเรียนรู้..ใช้ประโยชน์..และสร้างจิตสำนึก โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ดำเนินเรื่องโดย สุชนา ชวนิชย์,วรณพ วิยกาญจน์, เจริญ นิติธรรมยง