HOME  :  2

 
     
 

          ภาคตะวันออก :  บริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นดินแดนซึ่งสภาพธรรมชาติอันหลากหลาย ทั้งที่ราบลอนคลื่นแคบๆ ทางตอนบนของภาค ภูเขาสูงเป็นแกนกลาง และยังมีชายฝั่งทะเลยาว 470 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกและทิศใต้ เอื้ออำนวยให้เกิดสังคมพืชแบบป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ ป่าชายหาด ป่าชายเลน ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของภาคมีเทือกเขาจันทบุรี ทอดตัวตามแนวตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนทางทิศเหนือมีเทือกเขาสันกำแพงและพนมดงรัก ทอดตัวในแนวตะวันตก - ตะวันออก กั้นกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดแนวชายฝั่งมีหาดทรายและเกาะแก่งอันงดงาม เช่น เกาะช้าง จังหวัดตราด เกาะกูด และเกาะคราม แม่น้ำสำคัญคือ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำจันทบุรี และแม่น้ำระยอง ซึ่งไหลลงสู่อ่าวไทย ก่อให้เกิดตะกอนปากแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากภาคตะวันออกตั้งอยู่ติดกับทะเล จึงได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้  และไอน้ำจากทะเลอย่างเต็มที่ตลอดปี ส่งผลให้ภาคนี้มีฝนตกชุกตั้งแต่ชายฝั่งจังหวัดจันทบุรีไปจนถึงอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด โดยมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยเกินกว่า 4,000 มิลลิเมตร เกือบทุกปี สภาพเช่นนี้ส่งผลให้ชนิดพืชพรรณและป่าไม้

มีความคล้ายคลึงกับภาคใต้มากคือ เป็นป่าดิบชื้น มีผืนป่าสำคัญทรงคุณค่า เช่น เขาสอยดาว เขาคิชกูฎ และเขาชะเมา-เขาวง ในจังหวัดจันทบุรี รวมทั้งป่ารอยต่อ 5 จังหวัดอันยิ่งใหญ่ของเขาอ่างฤๅไน
          ภาคใต้
ภูมิประเทศมีลักษณะเป็นคาบสมุทรยื่นล้ำลงไปในทะเล โดยเริ่มตั้งแต่คอคอดกระ จังหวัดระนอง ลงไปถึงชายแดนมาเลเซีย และที่บริเวณคอคอดกระนี้เองถือเป็นจุดแยกเขตพืชพรรณและสัตว์ออกจากกลุ่มอินโดจีนไปเป็นของเขตมาเลเซียอย่างชัดเจน คาบสมุทรภาคใต้มีเทือกเขาเป็นสันแกนกลางและมีพื้นที่ลาดลงสู่ทะเลทั้ง 2 ด้าน  เกิดเป็นที่ราบชายฝั่งแคบๆ มีเทือกเขาตะนาวศรี ทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ กั้นพรมแดนกับประเทศพม่า ถัดลงมาเป็นเทือกเขาสันกาลาคีรีทอดยาวในแนวตะวันออก-ตะวันตก เป็นพรมแดนไทยกับมาเลเซีย แม่น้ำสายหลักของภาคมีลักษณะเป็นแม่น้ำสายสั้นๆ กระแสน้ำไหลเชี่ยว เช่น แม่น้ำกระบุรี แม่น้ำชุมพร แม่น้ำตาปี และแม่น้ำสายบุรี เป็นต้น  ชายฝั่งด้านตะวันออกของคาบสมุทรอยู่ในเขตท้องทะเลอ่าวไทย มีความยาวประมาณ  1,300 กิโลเมตร เป็นลักษณะชายฝั่งยกตัว มีหาดทรายราบเรียบสวยงามและเกาะต่างๆ เช่น เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า ฯลฯ ส่วนฝั่งตะวันตกเป็นเขตทะเลอันดามัน มีแนวชายฝั่งยาวประมาณ 849 กิโลเมตร ในลักษณะของชายฝั่งจมตัว เป็นหน้าผาขรุขระเว้าแหว่ง เช่น หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะทะเลตรัง  หมู่เกาะทะเลกระบี่ และหมู่เกาะอ่าวพังงา ฯลฯ ภูมิปรแทศของภาคใต้เปิดรับมรสุมจากทั้ง 2 ด้านนี้ ก่อให้เกิดฝนตกชุก ไม่มีฤดูหนาวที่แท้จริง นำไปสู่สภาพอันเหมาะสมต่อการเกิดและการคงอยู่ของสังคมป่าดิบขื้นรกทึบ รวมทั้งป่าดิบที่ราบต่ำปกคลุมทั่วไป เช่น ป่าดิบเขาหลวง ป่าคลองแสง-เขาสก ป่าเขาบรรทัด และป่าฮาลาบาลา เป็นต้น มีป่าชายเลนผืนใหญ่ เช่น บริเวณป่าน้ำหนาว จังหวัดระนอง และในอ่าวพังงา นอกจากนี้ยังมีป่าพรุชายฝั่งทะเลบริเวณพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส รวมถึงป่าชายหาดสลับกันไปเป็นตอนๆ เกิดความมั่งคั่งทางชีวภาพในระดับสูง
....อ่านต่อ