HOME  :  4

 
     
 

ถ้าไม่มีป่า ฝนก็ตกในทะเลอยู่แล้ว เมื่อความชื้น ไอน้ำระเหยลอยตัวสูงขึ้นจนปะทะความร้อนในอากาศ ก็กลั่นตัวเป็นหยดน้ำ และตกลงมาเป็นสายฝน และถูกพัดพาเข้าสู่แผ่นดินใหญ้ด้วยอิทธิพลอขงลม
          ถ้ามองถึงที่มาของน้ำฝน ป่าธรรมชาติจึงเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้นที่ช่วยให้ฝนตก สังเกตได้ว่าบนยอดเขาสูง จะเห็นเมฆปกคลุมยอดเขา เป็นปรากฏการณ์ที่ต้นไม้จำนวนมากได้คายน้ำ กลายเป็นความชื้น ถูกความกดอากาศยกตัวให้ลอยตัวสูงขึ้น เมื่อขึ้นไปถึงยอดเขาสูงที่มีความกดอากาศต่ำ ไอน้ำได้รวมตัวกลายเป็นก้อนเมฆ เมื่อปะทะกับความร้อนก็กลั่นตัวเป็นหยดน้ำตกลงมาเป็นสายฝน นั่นก็คือ กระบวนการทางธรรมชาติเช่นเดียวกับการเกิดฝนในทะเล
          กระบวนการทางธรรมชาติที่แยบยล ไม่ได้กำหนดหน้าที่ของผืนป่าไว้เพียงเท่านั้น หากความเป็นไปที่เกิดขึ้นในขั้นต่อไป คือ ความยิ่งใหญ่และคุณค่าของผืนป่า จนกล่าวได้ว่า ป่าธรรมชาติเป็นแหล่งกักกันน้ำในธรรมชาติที่สำคัญ หรืออาจกล่าวสั้นๆ ได้ว่า "ผืนป่ารักษาน้ำ" และเป็นคำตอบที่ชัดเจนของคำกล่าวที่ว่า "เขื่อนเป็นแหล่งกักเก็บน้ำชั่วคราว แต่ป่าเป็นแหล่งกักเก็บน้ำชั่วชีวิต"
          ในป่าธรรมชาติ เมื่อมองในมิติที่ย่อลงมา ตั้งแต่ต้นไม้มากมาย ที่มีชนิด ขนาดรูปร่าง รูปทรง ความสูงของเรือนยอดไม้ที่แตกต่างกัน ความหนาแน่นของต้นไม้ ความถี่ที่พบต้นไม้แต่ละชนิดในบริเวณหนึ่ง ตลอดจนส่วนที่เหมือน แตกต่าง หรือคาบเกี่ยวกันในแต่ละกลุ่มพืช และมองลึกลงไปถึงระบบรากของต้นไม้แต่ละกลุ่ม แต่ละชนิด ที่มีความแตกต่างกันและถ้าจับทุกส่วนเหล่านี้เข้ามารวมกัน เราจะเรียกว่า สังคมพืช  เมื่อมองลึกลงไปถึงใต้ดิน ก็จะพอเห็นภาพระเกะระกะของรากไม้ที่ชอนไชซ้อนทับ คดเคี้ยว สอดประสานซึ่งกันและกัน จนแลดูยุ่งเหยิงยิ่งกว่าใยแมงมุมเสียอีก

          ความสลับซับซ้อนที่เกิดขึ้นในภาพที่กล่าวถึง คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ป่าธรรมชาติถูกเปรียบเสมือนฟองน้ำที่ฉ่ำชุ่มอุ้มน้ำไว้ตลอดเวลา ที่น้ำจะซึมออกมาเรื่อยๆ โดยที่ฟองน้ำจะไม่เหือดแห้ง ตราบที่ต้นไม้ใหญ่น้อยเติบโตปกคลุมผืนดิน
          เพราะว่า เมื่อฝนตกลงมา ไม่ว่าจะเป็นช่วงฤดูกาลที่ลมมรสุมพัดพามา หรือฝนที่ตกจากการกลั่นตัวของไอน้ำตามภูเขาสูงในป่าทึบผืนใหญ่ ความสลับซับซ้อนในโครงสร้างสังคมป่าและรูปแบบ ก็จะเป็นเสมือนกันชน ที่ป้องกันไม่ให้ความแรงของสายฝนตกกระทบพื้นดินโดยตรง
          การลดแรงปะทะของสายฝนที่เริ่มตั้งแต่ ชั้นเรือนยอด กิ่งก้าน ใบ ลำต้น จนถึงหน้าดินที่ถูกปกคลุมด้วยเศษซากพืช ก่อนจะค่อยๆ ซึมผ่านชั้นดิน แล้วไหลลงไปรวมสะสมไว้ในชั้นหิน จากนั้นน้ำจะเคลื่อนตัวด้วยแรงดันในผิวโลก ไหลไปตามรอยแตกของชั้นหิน ถ้ารอยแตกนั้นลึกลงไปจากผิวโลกเรื่อยๆ น้ำก็จะไปสะสมเป็นน้ำใต้ดิน ที่มนุษย์สามารถนำมันมาใช้ด้วยการขุดเจาะบ่อบาดาล แล้วดูดน้ำมาใช้ แต่ถ้ารอยแตกของชั้นหินเป็นเส้นทางที่ขึ้นสู่ผิวโลก น้ำก็จะถูกดันออกมา ซึ่งเรียกว่า ตาน้ำ
                                           

อ่านต่อ