หน้า  1  2  3  4  5  6  7  8  9 

 

2
 

 

          ถาม : การวาดภาพทางพฤกษศาสตร์เริ่มขึ้นอย่างไร
          ตอบ
คำถามนี้ถ้าจะตอบให้ถูกต้องชัดเจน คงจะต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง  จึงขอสรุปสั้นๆ ว่า การวาดภาพแนวนี้มีมากว่า 2000 ปีแล้ว ทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก
          ทางตะวันตกมีมาตั้งแต่สมัยอียิปต์ กรีก โรมันโบราณ รูปวาดทางพฤกษศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดพบที่ผนังวัดที่เมืองคานัก (Kanak) ในประเทศอียิปต์ ซึ่งได้บันทึก วาดภาพืชไว้ถึง 275 ชนิด งานนี้วาดราว 1500 ปีก่อนคริสตกาล ส่วนใหญ่งานในช่วงแรกๆ จะเป็นการบันทึกพืชที่เป็นสมุนไพร คือใช้เป็นยารักษาโรค งานต่างๆ พระจะเป็นผู้แปลและเก็บรวบรวมเย็บเป็นเล่ม (Folio) ไว้ตามวัด ส่วนใหญ่จะวาดลงบนกระดาษหรือหนังสัตว์ขัดมันที่เรียกว่า "เวลุ่ม" (Vellum) ซึ่งมักทำมาจากหนังแพะหรือหนังแกะ
          ในยุโรปงานแขนงนี้ ถือเป็นศาสตร์ที่แพร่หลายจริงๆ ในราวศตวรรษที่ 16 งานสำคัญซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมีอาทิเช่น งานของ Leonardo da Vinci และ Albert Durer ต่อมาในศตวรรษที่ 16 ปารีส ได้เป็นจุดศูนย์กลางของการวาดภาพพฤกษศาสตร์ โดยมีพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นผู้จ้างช่างเขียนมาบันทึกพันธุ์ไม้ ช่างเขียนที่มีชื่อในราชสำนักยุคนี้คือ Nicolas Robert (เขาวาดภาพราว 20 ภาพใน 1 ปี โดยใช้สีน้ำวาดลงบนเวลุ่ม) ช่วงนี้มีกลุ่มนักเดินทางผจญภัยไปในดินแดนโพ้นทะเลมากมายและมีการบันทึกการเดินทาง อีกทั้งจ้างนักวาดภาพพฤกษศาสตร์ร่วมไปในการเดินทางด้วย  เพื่อบันทึกข้อมูลเสาะแสวงหา และวาดภาพพรรณไม้แปลกๆ รวมทั้งนำเมล็ดและส่วนต่างๆ ของพืชต่างถิ่นกลับมาศึกษาและเพาะพันธุ์ ศิลปินหญิงชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียงในยุคนี้คือ Maria Sibylla Merian  ซึ่งบันทึกพรรณไม้มากมายจากซูลินัม (Surinum) ซึ่งอยู่ทางใต้ของอเมริกา
          สมัยนั้นนักพฤกษศาสตร์มักเก็บข้อมูลพืชโดยการอัดแห้ง เพราะสามารถทำได้ง่าย สะดวกแก่การวาดภาพ ในช่วงศตวรรษที่ 19 อังกฤษเป็นผู้นำในด้านการวาดภาพทางพฤกษศาสตร์ ทางฝรั่งเศสเองก็มีลูกศิษย์ของ Pierre Joseph Redoute มาสานงานต่อ ศิลปินท่านหลังนี้ได้ทำงานวาดรูปให้กับทั้งพระนางมารีอังตัวเนตและจักรพรรดินีโจเซฟิน มีผลงานมากมายเป็นที่แพร่หลายมาก งานที่สำคัญที่สุด 2 เล่ม ก็คือ  Les Lilacess (1802-1816) และ Les Roses (1817-1824) จากนั้นมาจนถึงปัจจุบันก็มีศิลปินอีกหลายท่านจากสถาบันต่างๆ ทั้งในอังกฤษ เยอรมัน ออสเตรีย ฝรั่งเศส ที่สร้างงานมากมายอย่างต่อเนื่อง โดยมีสวนพฤกษศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ สมาคมพฤกษศาสตร์ต่างๆ ราชสำนัก และคหบดีเป็นผู้ให้การสนับสนุน
          ส่วนทางโลกแถบตะวันออก หรือทางเอเชีย การวาดเก็บข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ก็เริ่มมีขึ้นที่ประเทศจีน สมัยลัทธิเต๋า ราว 2000 ปีก่อนคริสตกาล เอกลักษณ์สำคัญของทางเอเชียนี้คือการวาดแบบพู่กันจีน โดยใช้หมึกดำที่ได้จากต้นสนวาดลงบนกระดาษสาไม่เติมสีอื่นๆ มีการพบงานดอกไม้ที่วาดในราชวงศ์ถัง (Tang) ราว 618-906 ปีก่อนคริสตกาล และราชวงศ์ซุ่ง (Soong) ราว ค.ศ. 960-1279 การวาดภาพจากธรรมชาติก็เป็นที่แพร่หลายไปถึงประเทศญี่ปุ่น โดยพระสอนศาสนาพุทธ ในราว 540 ปี ก่อนคริสตกาล ได้มีการรู้จักศิลปะนี้อย่างแพร่หลาย ในราวศตวรรษที่ 14 โดยส่วนใหญ่เป็นงานของพระในลัทธิเซน (Zen) ซึ่งได้มีการบันทึกพรรณไม้ที่ใช้ในการรักษาโรคของมนุษย์และของม้าอีกทั้งทางการเกษตร และพรรณไม้ในป่าตามท้องถิ่นต่างๆ  หลังจากที่วัฒนธรรมตะวันสตกมาแพร่หลายในญี่ปุ่นราว ค.ศ.1867 การวาดภาพแขนงนี้พบว่าเจริญรุ่งเรืองในช่วงที่กษัตริย์ราชวงศ์โมกุล (Mughal Empire) มีอำนาจ เมื่อหมดอำนาจลง ช่างวาดทั้งหลายก็มาทำงานให้กับ East Asia Company ซึ่งเป็นบริษัทของอังกฤษ มีงานบันทึกดีๆ มากมาย เป็นงานวาดภาพที่ควบคุมโดยช่างเขียนศิลปินชาวอังกฤษ แต่ช่างวาดเป็นชาวอินเดียท้องถิ่นจากแถวกัลกัตตา งานพฤกษศาสตร์ แบบเดียวกันใช่วงนี้ก็พบในจีนตอนใต้ (ตามเมืองท่าที่มีชาวต่างชาติมาติดต่อค้าขายด้วย) คือช่างวาดเป็นชาวจีนแต่วาดเป็นแบบฝรั่ง โดยฝรั่งเป็นผู้ว่าจ้างเพื่อนำไปเผยแพร่ทางตะวันตก
          สรุปสั้นๆ ได้ว่าแต่เดิมนั้นทางตะวันตกเน้นทางความถูกต้องเชิงวิทยาศาสตร์ ส่วนทางตะวันออกเราเน้นในเชิงปรัชญา คนทางตะวันออกเราจะดูอะไรลึกซึ้ง แล้วเอาตัวของมนุษย์อิงเข้าไปกับธรรมชาติ แต่ทางตะวันตกเขาจะเอาธรรมชาติเข้ามาอยู่กับมนุษย์ ดูอย่างเช่นรูปวาดนะคะ รูปวาดทางตะวันตกนี่การวางภาพจะอยู่ตรงกลาง มีความสมดุลย์ซ้ายขวา กรอบรูปก็จะเท่ากันทุกด้าน ส่วนทางตะวันออก ความสมดุลย์จะไม่เท่ากันเหมือนธรรมชาติที่มักมีความหลากหลาย แม้แต่ที่ว่างเปล่าๆ บนภาพ ก็ชวนให้ผู้ชมงานคุยด้วย หรือมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างจินตนาการ เช่น รูปภาพของจีที่ใช้หมึกดำทำจากสนบนกระดาษสา แม้แต่กรอบข้างบนก็จะใหญ่ถือว่าเป็นท้องฟ้า ส่วนตรงกลางที่มีรูปภาพเป็นศิลปะซึ่งเกิดจากมนุษย์จะเล็กกว่าและส่วนล่างของรูปจะมีเนื้อหาน้อยกว่าส่วนบน ถือว่าเป็นเสมือนพื้นดิน ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Asymmetric คือไม่เท่ากัน ธรรมชาติไม่สร้างอะไรให้เหมือนกันหมด ลองเอาใบไม้มาดูทั้งสวน ทั้งโลก จะหาเหมือนกันทุกอย่างทั้งสีสัน สัดส่วน และรายละเอียดนั้นไม่มี
          การวาดภาพและความคิดทั้งทางตะวันตกและตะวันออกน่าสนใจทั้งคู่ค่ะ ควรศึกษาและหารูปแบบเฉพาะของตัวเองให้ได้
          ในปัจจุบันการวาดภาพชนิดนี้กลับมาเป็นที่นิยมกันมาก แม้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่อาจเป็นเพราะยิ่งวัตถุพัฒนาไปเร็วเท่าไร มนุษย์ก็หันกลับมามองหาและให้ความสำคัญกับงานที่สร้างโดยอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์เองมากขึ้น

 

หน้า  1  2  3  4  5  6  7  8  9