<< ย้อนกลับ

 

-2-

 
 
   
Noctiluca scintillans
Dinophysis
Ceratium
Ornithocercus
 
 

ไดโนแฟลเจลเลต (Dinoflagellates)
           ไดโนแฟลเจลเลต อาจจัดได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีลักษณะพิเศษที่สุดของแพลงก์ตอนพืช ไม่เพียงแต่มองดูสวยงามภายใต้กล้องจุลทรรศน์เท่านั้น มันยังมีความแตกต่างกันในการดำรงชีวิต มีความจำเพาะต่อระบบนิเวศและมีการปรับตัวที่เป็นเอกลักษณ์มากที่สุดในกลุ่มแพลงก์ตอนพืชทั้งหมด  ไดโนแฟลเจลเลตเป็นเซลล์มีหนวด 2 เส้น เซลล์มีสีเหลืองแกมน้ำตาล หรือสีเข้มจนเกือบดำ ถึงแม้ว่าไดโนแฟลเจลเลตจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มแพลงก์ตอนพืช แต่มีไดโนแฟลเจลเลตบางชนิดไม่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้และดำรงชีวิตเป็นแบบสัตว์  โดยกินแพลงก์ตอนชนิดอื่นเป็นอาหาร เนื่องจากมันเป็นเซลล์ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่จึงสามารถมองเห็นได้ง่าย  ถ้าเป็นตัวอย่างแพลงก์ตอนที่มาใหม่ๆ  เราจะมองเห็นลักษณะการเคลื่อนไหวของมันได้ด้วย และเช่นเดียวกับแพลงก์ตอนพืชชนิดอื่นๆ ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ได้แก่ มีอุณหภูมิ แสง และสารอาหารโดยเฉพาะพวกไนเตรต และ ฟอสฟอรัสปริมาณมาก  ไดโนแฟลเจลเลตอาจจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นได้ ซึ่งบางครั้งมากเสียจนกระทั่งเกิดภาวะเป็นพิษขึ้น ที่เรียกว่าเกิดปรากฎการณ์น้ำเปลี่ยนสี  หรือน้ำแดง ( red tide )

ไซยาโนแบคทีเรียหรือสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Cyanobacteria or Blue gree algae)

   
Oscillatoria ( Trichodesmium) erythraea Oscillatoria ( Trichodesmium) thiebautii

          ไซยาโนแบคทีเรีย หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน เป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นเริ่มแรกบนโลก และปัจจุบันยังคงพบอยู่ทั่วไป กลุ่มนี้มีชื่อเรียกว่าสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินเนื่องจากว่ามันสามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้  และอยู่ในน้ำ แต่อย่างไรก็ตาม พวกนี้มีโครงสร้างของเซลล์คล้ายกับแบคทีเรียมากกว่าพวกสาหร่ายที่แท้จริง
           ไซยาโนแบคทีเรียหรือสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ที่พบตามชายฝั่งทะเลในภูมิภาคเขตร้อน ได้แก่
Oscillatoria ( Trichodesmium  ) erythraea  และ  O. thiebautii   เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญที่สุดในการเป็นผู้ผลิตเริ่มต้นในห่วงโซ่อาหาร นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ช่วยในการนำธาตุไนโตรเจนที่มีอยู่ในบรรยากาศลงไปในทะเล แต่ถ้าสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินมีการเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วทำให้มีปริมาณมหาศาล เรียกว่าเกิดการบลูมของน้ำ ( water bloom ) เคยมีรายงานว่า สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินทั้ง  2  ชนิด นี้ทำให้เกิดการบลูมซึ่งทำให้สัตว์น้ำตาย เช่น ปลาตาย เนื่องจากขาดออกซิเจนและสาหร่ายไปอุดตันที่เหงือก

 
     
 

..............................................................................