หน้า  1   2   3   4   5

-3-

อ่านหน้าต่อไ

 
 
   

          1.7  ป่าชายเลนหรือป่าบึงน้ำเค็ม ( mangrove forest  )  เป็นป่าที่น้ำทะเลท่วมถึง พบตามชายฝั่งที่เป็นแหล่งสะสมดินเลนทั่วๆ ไป อยู่ระดับเดียวกับน้ำทะเลเป็นส่วนใหญ่ ปริมาณน้ำฝนระหว่าง 1,500-4,000 มม. ต่อปี เป็นเอกลักษณ์ของสภาพป่าอีกแบบหนึ่งในภูมิภาคเขตร้อน เป็นป่าที่มีพืชพรรณค่อนข้างน้อยชนิดและขึ้นเป็นกลุ่มก้อนเท่าที่สำรวจพบมีประมาณ 70 ชนิด ในพื้นที่ประมาณ 1.1 ล้านไร่ พรรณไม้หลักมี โกงกางใบเล็ก และโกงกางใบใหญ่เป็นพื้น
          นอกจากนี้จะมีพวกแสม พวกไม้ถั่ว ประสัก หรือพังกา โปรง ฝาด ลำพู-ลำแพน เป็นต้น ผิวหน้าดินจะเป็นที่สะสมของมวลชีวภาพ เป็นอาหารของสัตว์ทะเลอย่างดี สำหรับพืชชั้นล่างจะเป็นพวกเหงือกปลาหมอ ถอบแถบน้ำ ปรงทะเล จาก เป็นต้น ป่าประเภทนี้หากถูกทำลายจะมีพวกเหงือกปลาหมอ เป้งทะเล ลำแพน ลำพู เข้าแทน และจะเปลี่ยนสภาพเป็นป่าบกไปในที่สุด การฟื้นตัวกลับเป็นป่าชายเลนอีกค่อนข้างยาก มนุษย์จะต้องเข้าไปช่วยเหลือตามหลักการที่ถูกต้องและเหมาะสม
 

ป่าชายเลน ป่าชายหาด ป่าเชิงผา

          1.8  ป่าชายหาด ( beach forest  )  เป็นป่าที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลที่มีดินเป็นกรวดทรายและโขดหิน สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 50 เมตร มีไอเค็มกระจายถึง ปริมาณน้ำฝนใกล้เคียงกับป่าชายเลน พรรณไม้มีน้อยชนิดและผิดแผกไปจากป่าอื่นๆ เด่นชัด ถ้าเป็นแหล่งดินทรายจะมีพวกสนทะเลขึ้นเป็นกลุ่มก้อนไม่ค่อยมีพรรณไม้อื่นปะปน  พืชชั้นล่างจะมีพวก คนทีสอ ผักบุ้งทะเล และพรรณไม้เลื้อยอื่นๆ บางชนิด ถ้าดินเป็นกรวดหิน พรรณไม้ส่วนใหญ่จะเป็นพวก กระทิง ไม้เมา หูกวาง เกด เป็นต้น พืชชั้นล่างจะเป็นพวกหญ้าและไม้ที่มีหนามแหลมบางชนิดปนอยู่  ความโอชะของดินน้อยมาก จะต้องมีวิวัฒนาการอีกยาวนานกว่าจะเปลี่ยนสภาพเป็นป่าดิบแล้ง ป่าประเภทนี้หากถูกทำลายลงจะกลายเป็นทุ่งหญ้าเสียเป็นส่วนใหญ่ จะมีพวกสนทรายหรือสนสร้อย ต้นพรวด ต้นโคลงเคลง เอ็นอ้า หม้อข้าวหม้อแกงลิง ฯลฯ เข้าไปแทนในระยะแรกๆ
          1.9  ป่าเชิงผา (
cliff forest  ) นับเป็นสังคมป่าดิบอีกชนิดหนึ่ง พบกระจายเป็นหย่อมๆ ตามโขดหิน ตั้งแต่ชายทะเลจนถึงยอดเขา ปริมาณน้ำฝนอยู่ระหว่าง 1,000-2,000 มม. พืชที่ขึ้นสามารถทนความแห้งแล้งและทนลมได้ดี มักมีใบหนาและมีหนามเป็นส่วนใหญ่ มีจำนวนไม่น้อยกว่า 60 ชนิด เช่น งิ้วป่า มะนาวผี หนามพรม จันทน์ผา ไทรใบแหลม พลองใบเล็ก ช้างน้าว มะค่าแต้ มะค่าทะเล และเกด เป็นต้น หากถูกทำลายจะกลายเป็นทุ่งหญ้าเป็นส่วนใหญ่
          2. สังคมพืชป่าผลัดใบ (
deciduous forest เป็นสังคมที่ประกอบไปด้วยพรรณพืชที่ผลัดใบหรือทิ้งใบเป็นองค์ประกอบสำคัญ การผลัดเปลี่ยนใบจะใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูแล้ง สังคมนี้มีประมาณร้อยละ 70 ของเนื้อที่ป่าของประเทศไทย และแยกเป็นกลุ่มย่อยๆ ได้อีก คือ
          2.1  ป่าเบญจพรรณ (
Mixed deciduous forest  )  มีอยู่ทั่วๆ ไปตามภาคต่างๆ ของประเทศที่เป็นที่ราบหรือตามเนินขาที่สูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง 50-600 เมตร ดินเป็นได้ตั้งแต่ดินเหนียว ดินร่วน จนถึงดินลูกรัง ปริมาณน้ำฝนไม่เกิน 1,000 มม. ต่อปี เป็นสังคมพืชที่มีความหลากหลายทางมวลชีวะมากสังคมหนึ่ง พรรณไม้จะผลัดใบมากในฤดูแล้ง เป็นเหตุให้พรรณไม้เหล่านี้มีวงปีในเนื้อไม้หลายชนิด พรรณไม้จะขึ้นคละปะปนกัน ที่เป็นไม้หลักก็มี สัก แดง ประดู่ มะค่าโมง พยุง ชิงชัน พฤกษ์ ถ่อน ตะเคียนหนู หามกราย รกฟ้า ขะเจ๊าะ พี้จั่น ฯลฯ พืชชั้นล่างจะมีพวกไผ่มากชนิด บางทีขึ้นเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ อาทิ ไผ่รวก ไผ่นวล ไผ่ผาก เป็นต้น นับว่าเป็นสังคมที่ผลิตไม้ที่ประชาชนนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางมาก ความโอชะของผิวดินและเนื้อดินค่อนข้างสูงถ้าหากจะไม่มีไฟป่ามาคอยเผาไหม้ในช่วงฤดูแล้ง  มีการผุสลายเป็นอย่างต่อเนื่องและค่อนข้างรวดเร็ว จึงเป็นแหล่งผลิตปุ๋ยธรรมชาติที่มากมายมหาศาลและระบายเลื่อนไหลไปกับน้ำฝนลงสู่พื้นที่ราบลุ่มเพื่อการเกษตรมาแต่โบราณ ป่าประเภทนี้หากถูกทำลายซ้ำกันหลายหนหลายครั้งจะเปลี่ยนเป็นป่าเหล่า ป่าละเมาะ และป่าหญ้าในที่สุด การฟื้นค่อนข้างง่าย เพราะมีพรรณไม้เบิกนำหลายชนิด เช่น ประดู แดง ส้าน กระโดน มะกอก ตะแบก ฯลฯ ซึ่งมีเมล็ดมาก ทนไฟ ทนแล้ง ต้องการแสง ซึ่งเป็นคุณสมบัติประการหนึ่งของพรรณไม้เบิกนำอยู่พร้อมแล้ว
          2.2  ป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าแดง ป่าแพะหรือป่าเต็ง-รัง (
dry deciduous dipterocarp forest   ) มีอยู่ทั่วไปตามภาคต่างๆ ของประเทศที่เป็นที่ราบหรือตามเนินเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล 100-600 เมตร ดินมักเป็นดินทรายและดินลูกรัง มีปริมาณน้ำฝนไม่เกิน 1,000 มม. ต่อปี พรรณไม้ที่ขึ้นมักเป็นชนิดที่ทนแล้ง ทนไฟ และใช้เป็นอาหารได้มากชนิด เช่น เต็ง รัง เหียง พลวง กราด ประดู่ แลงใจ เม่า มะขามป้อม ทะลอก มะกอก มะกอกเลื่อม ฝักหวาน ฯลฯ พืชชั้นล่างส่วนใหญ่เป็นพวกหญ้า ไผ่ต่างๆ ที่พบมากที่สุดคือไผ่เพ็ก ไผ่ป่า พวกปรง พวกขิง-ข่า กระเจียว เปราะ เป็นต้น  ป่าเต็ง-รัง เป็นป่าที่มีความคงทนต่อการรุกราน ถ้าการรุกรานนั้นไม่ถึงกับขุดรากถอนโคนก็จะยังคงสภาพของความเป็นป่าอยู่ แต่ถ้าถูกทำให้เปลี่ยนสภาพแล้วจะกลายเป็นป่าหญ้าที่ยากต่อการแก้ไขทันที

   

ป่าเบญจพรรณแล้ง

 

ป่าเบญจพรรณ