กล้วยมะสัง
Fissistigma bicolor (Hook.f. et Th.) Merr., ANNONACEAE



ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ เลื้อยได้ไกลถึง 20 ม. โดยใช้ลำต้นม้วนพันต้นอื่น ตามยอดและกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 3-10 ซม. ยาว 8-26 ซม. ปลายแหลม โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน มีขนตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ ด้านล่างมีขนนุ่มสีน้ำตาลทั่วไป เส้นแขนงใบข้างละ 10-18 เส้น เรียงขนานกันเป็นระเบียบได้ระยะห่างสม่ำเสมอ ปลายเส้นโค้งจรดขอบใบ ระหว่างเส้นแขนงใบมีเส้นขั้นบันได ก้านใบยาว 0.6-1.2 ซม. มีขนสีน้ำตาล ดอกออกเดี่ยวๆ ตามกิ่งตรงข้ามกับใบและที่ปลายกิ่ง หรือเป็นช่อสั้นๆ ไม่แยกแขนงช่อละ 2-5 ดอก ยาว 1.2-5 ซม. มีขนสีน้ำตาล ก้านดอกยาว 0.7-2.1 ซม. กลีบเลี้ยง 3 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาว 2-3 มม. โคนติดกัน แผ่นกลีบโค้งเป็นกระพุ้งเล็กน้อย มีขนนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น กลีบดอกของดอกตูมจรดกันเป็นรูปกรวยแหลม กลีบดอกเรียงสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ หนา รูปใบหอก ยาว 1.8-2.5 ซม. ด้านนอกกลีบมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น กลีบชั้นในเล็กกว่าและมีขนน้อยกว่า เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก อยู่ชิดกันแน่นเป็นพุ่มกลม รังไข่มีจำนวนมาก แยกกัน โค้งเล็กน้อย มีขน ผลเป็นผลกลุ่ม อยู่บนแกนตุ้มกลม มี 5-10 ผล ก้านช่อผลยาว 0.7-1.6 ซม. แต่ละผลรูปไข่แกมรูปทรงกระบอกสั้นๆ กว้าง 1.3-1.8 ซม. ยาว 1.2-2.7 ซม. มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น ปลายผลป้าน มีติ่งมนเล็กน้อย ก้านผลยาว 1-2 ซม. มีขนสีน้ำตาลประปราย ผลสุกสีคล้ำ มีหลายเมล็ด


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : มาเลเซีย


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ภาคใต้


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นตามป่าดิบชื้น บนพื้นที่ตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 500 ม.


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.