กระต่ายจันทร์
Centipeda minima (L.) A. Br. et Aschers, ASTERACEAE (COMPOSITAE)


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นแตกแขนงทอดราบไปตามพื้น ปลายกิ่งมักชูตั้งขึ้นเล็กน้อยหรืออาจชูสูงได้ถึง 15 ซม. มีขนทั่วไป ใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปช้อน กว้าง 2-5 มม. ยาว 0.5-1.5 ซม. ปลายแหลม โคนสอบ ขอบหยักหยาบๆ แผ่นใบด้านล่างมีขนหนาแน่น เส้นใบเห็นไม่ชัดเจน ก้านใบสั้นมากหรือไม่มี ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ค่อนข้างกลม ออกตามง่ามใบ เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-4 มม. ก้านช่อดอกสั้นมากหรือไม่มี โคนช่อมีใบประดับรูปช้อนขนาดเล็กจำนวนมากเรียงซ้อนประมาณ 2 ชั้นอยู่โดยรอบฐานรองดอกที่เป็นแผ่นกลมขนาดเล็กและนูนเล็กน้อย ดอกเพศเมียเล็กมากและมีจำนวนมาก เรียงเป็นวงบนฐานรองดอกล้อมรอบดอกสมบูรณ์เพศซึ่งมีขนาดเล็กกว่าและมีจำนวนน้อยกว่า ดอกเพศเมียมีกลีบดอกสีขาว โคนติดกันเป็นหลอดเรียว สั้นมาก ปลายแยก 2-3 แฉก รังไข่เล็ก ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 2 แฉก ดอกสมบูรณ์เพศมีกลีบดอกสีเหลืองหรือเหลืองอมเขียว โคนกลีบติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น 4 แฉก รังไข่เล็ก เกสรเพศผู้ 4 อัน ผลมักเป็นสี่เหลี่ยมรูปรีหรือรูปเกือบขอบขนาน ขนาดเล็กมากและมีขน


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : เขตร้อนของทวีปเอเชีย แอฟริกา ออสเตรเลีย


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ทั่วทุกภาค


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นตามที่โล่งและริมแหล่งน้ำ บนพื้นที่ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงที่สูงประมาณ 1,800 ม.


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.