กระชับ


ชื่อพื้นเมือง : กระชับ เกี๋ยงนา ขี้ครอก (ราชบุรี), ขี้อ้น (ภาคเหนือ), ขี้อ้นดอน (ขอนแก่น, เลย)


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Xanthium strumarium L.


ชื่อวงศ์ : ASTERACEAE (COMPOSITAE)


ชื่อสามัญ : Cocklebur


ลักษณะ : ไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นตรง สูงได้ถึง 1.5 ม. ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม โคนเว้าเล็กน้อย ขอบเรียบหรือหยักเว้าแหว่ง ช่อดอกออกตามง่ามใบ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ในช่อดอกเดียวกัน ดอกเพศผู้เล็ก อยู่ชิดติดกันเป็นกระจุกกลมตรงปลายช่อ ดอกเพศเมียอยู่ชิดกันเป็นคู่ๆ ในกระเปาะกลมรี ทางตอนล่างของช่อ เปลือกมีหนามปลายงอเป็นขอ ที่ปลายกระเปาะมีหนามแข็ง 2 อันโค้งงอเข้าหากัน แต่ละกระเปาะมี 2 ผล ผลละ 1 เมล็ด เมล็ดแก่สีดำ


ประโยชน์ : ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการใช้ส่วนต่างๆ ของกระชับรักษาโรคหลายชนิด ยอดอ่อนและต้นอ่อนที่มีใบแท้สมบูรณ์เมื่อทำให้สุกแล้วใช้กินเป็นผักได้ แป้งจากเมล็ดใช้ทำเส้นก๋วยเตี๋ยว อย่างไรก็ตามการใช้เป็นอาหารหรือยาควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะบางส่วนของกระชับก็มีสารพิษอยู่ด้วย


โทษ : ในเมล็ดมี xanthostrumarin glycoside ซึ่งเป็นพิษต่อสัตว์ สารนี้จะคงอยู่จนถึงระยะที่เมล็ดงอกเป็นต้นอ่อนมีใบเลี้ยงติดอยู่ เมื่อใบแท้เริ่มเจริญเติบโตไกลโคไซด์จะลดลงอย่างรวดเร็ว สารพิษนี้ไม่สลายตัวแม้จะตากแดดให้แห้งแล้วก็ตาม นอกจากสารไกลโคไซด์แล้ว ในเมล็ดยังมี oxalic acid วิตามินซี เรซิน และน้ำมันซึ่งประกอบด้วย oleic acid และ linoleic acid


ข้อมูลเพิ่มเติม