กาฬพฤกษ์
Cassia grandis L.f., LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูงถึง 20 ม. โคนต้นมักเป็นพอน เรือนยอดเป็นพุ่มหรือแผ่กว้าง เปลือกสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ แตกเป็นร่อง ยอดอ่อนสีแดง กิ่งอ่อน ใบอ่อน และช่อดอกมีขนนุ่มหนาแน่น ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ แกนกลางใบประกอบยาว 15-30 ซม. ก้านใบประกอบยาว 2-3 ซม. ใบย่อย 10-20 คู่ เรียงจากเล็กไปหาใหญ่ รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 1-2 ซม. ยาว 3-5 ซม. ปลายมนมีติ่งหรือหยักเว้าเล็กน้อย โคนเบี้ยว แผ่นใบด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ด้านล่างมีขนหนาแน่น ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามกิ่งพร้อมผลิใบอ่อน ยาว 10-20 ซม. ก้านดอกยาว 1-2 ซม. ใบประดับรูปไข่ปลายแหลม กว้างประมาณ 3 มม. ยาวประมาณ 5 มม. ร่วงง่าย กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่กลับถึงค่อนข้างกลม กว้างประมาณ 5 มม. ยาว 5-8 มม. มีขนนุ่ม กลีบดอก 5 กลีบ สีแดงคล้ำแล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูอมส้ม รูปไข่กลับ กว้าง 0.8-1 ซม. ยาว 1.2-1.5 ซม. เกสรเพศผู้ 10 อัน ยาวไม่เท่ากัน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกมีก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 3 ซม. กลุ่มที่ 2 มี 5 อัน ก้านชูอับเรณูสั้น และกลุ่มที่ 3 มี 2 อัน ก้านชูอับเรณูสั้นมากและอับเรณูฝ่อ รังไข่เรียวโค้ง มีขนหนานุ่ม ฝักเป็นแท่งค่อนข้างกลม สีค่อนข้างดำ กว้าง 3-4 ซม. ยาว 20-40 ซม. มีสันทั้ง 2 ข้าง ผิวมีรอยแตก มี 20-40 เมล็ด เมล็ดรูปรี รูปไข่ ถึงรูปขอบขนาน กว้างประมาณ 1 ซม. ยาว 1.5-1.8 ซม.


ถิ่นกำเนิด : ทวีปอเมริกาเขตร้อน


การกระจายพันธุ์ : เขตร้อนทั่วไป


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป


สภาพนิเวศน์ : -


เวลาออกดอก : เดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
2) Smitinand, T. and Larsen, K., eds. 1984. Flora of Thailand (Vol.4: 1). Bangkok: TISTR Press.