กินกุ้งน้อย


ชื่อพื้นเมือง : กินกุ้งน้อย (เชียงใหม่), ผักปลาบ (ภาคกลาง), ผักปราบ (ทั่วไป), หญ้าเลินแดง (ภาคใต้, สุราษฎร์ธานี)


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Murdannia nudiflora (L.) Brenan


ชื่อวงศ์ : COMMELINACEAE


ชื่อสามัญ : Common Spiderwort


ลักษณะ : ไม้ล้มลุกสองปี สูง 15-55 ซม. ลำต้นตั้งหรือทอดเอนเลื้อยไปบนพื้นดิน และมักออกรากตามข้อที่ติดดิน ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานถึงรูปคล้ายใบหอก ช่อดอกออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ขนาดเล็ก แยกแขนง 2-6 แขนง แต่ละแขนงมี 2-5 ดอก กลีบเลี้ยง 3 กลีบ ขนาดใกล้เคียงกัน รูปคล้ายใบหอกแกมรูปไข่ปลายมน กลีบดอก 3 กลีบ สีม่วงน้ำเงินหรือม่วงอมชมพู ขนาดไม่เท่ากัน รูปรีกว้างหรือรูปไข่กลับกว้าง เกสรเพศผู้ 6 อัน เป็นเกสรที่สมบูรณ์ 2-3 อัน และเกสรไม่สมบูรณ์ 3-4 อัน รังไข่มี 3 ช่อง ปลายก้านชูเกสรเพศเมียเป็นกระเปาะมี 2 พู ผลยาว 3-5 มม. ภายในมี 3 ช่อง แต่ละช่องมี 2 เมล็ด เมื่อแก่และแห้งจะแตกออกเป็น 3 ซีก เมล็ดผิวขรุขระเป็นร่องและเป็นหลุม


ประโยชน์ : ใช้กินเป็นผัก เป็นอาหารสัตว์ และเป็นสมุนไพร เช่น ไต้หวันใช้เป็นยาลดไข้ ลดอาการบวม ในอินโดจีนใช้รากลดไข้ในเด็ก แก้บิด แก้ปัสสาวะกระปริบกระปรอย ในมาเลเซียใช้ใบพอกแก้ปวด ในนิวกินีใช้ทั้งต้นแก้บิดและแก้เป็นหมัน


โทษ : เป็นพืชที่ทนทั้งสภาพน้ำท่วมขังและแล้งได้ดี เป็นวัชพืชที่ร้ายแรงชนิดหนึ่ง นอกจากนั้น ยังเป็นที่อาศัยของศัตรูพืชปลูกหลายชนิด เช่น เชื้อราชนิด Pythium arrhenomanes Drechs.,ไส้เดือนฝอยชนิด Meloidogyne sp., Pratylenchus pratensis (de Man) Filip. และเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคใบด่างในพืชพวกแตงและขึ้นฉ่าย


ข้อมูลเพิ่มเติม