กำลังหมูเถื่อน
Argyreia brachypoda (Kerr) Ooststr., CONVOLVULACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้เลื้อย ลำต้นมีเนื้อไม้ มีขนสีน้ำตาลอ่อน หรือเทาหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กว้าง ค่อนข้างกลม หรือคล้ายรูปไต กว้าง 4-8 ซม. ยาว 3-7 ซม. ปลายมน และเว้าเล็กน้อย โคนรูปหัวใจ แผ่นใบด้านบนสีเขียวอมน้ำตาล มีขนยาว ด้านล่างสีขาวนวล มีขนยาวหนานุ่ม เส้นกลางใบ และเส้นแขนงใบเห็นเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ 7-9 เส้น ก้านใบยาว 1.5-4.6 ซม. มีขนเหมือนลำต้น ช่อดอกคล้ายช่อกระจุก ออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง มีขนหนาแน่น ก้านช่อดอกสั้นกว่าก้านใบ ยาว 0.8-2.5 ซม. ใบประดับ 4 ใบ ร่วงง่าย มีรูปร่างต่างๆ กัน มีขนหนาแน่น ใบประดับที่อยู่ด้านนอกยาวกว่า กลีบเลี้ยงรูปไข่ ค่อนข้างกว้าง ปลายมน กว้างประมาณ 1.4 ซม. ยาวประมาณ 1.1 ซม. ใบประดับที่อยู่ด้านในรูปรี ปลายแหลม กว้างประมาณ 5 มม. ยาวประมาณ 1.1 ซม. ไม่มีก้านดอก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ยาวไม่เท่ากัน ด้านนอกมีขนยาว และนุ่มสีขาว ด้านในเกลี้ยง กลีบเลี้ยงวงนอก 2 กลีบ รูปรีกว้างปลายแหลม กว้างประมาณ 5 มม. ยาวประมาณ 8 มม. กลีบเลี้ยงวงใน 3 กลีบ รูปรีแคบ กว้างประมาณ 2 มม. ยาวประมาณ 5 มม. กลีบดอกสีชมพู โคนติดกันเป็นหลอดรูปกรวยยาวประมาณ 1.2 ซม. ปลายผายออก และแยกเป็น 5 กลีบ ยาวประมาณ 6 มม. รูปขอบขนาน ปลายกลีบเว้าเล็กน้อย เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดอยู่ในหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 7 มม. โคนแผ่กว้างเป็นรูปสามเหลี่ยม และมีขนยาว ส่วนอื่นๆ เกลี้ยง รังไข่ยาวประมาณ 2 มม. มีจานฐานดอกล้อมรอบ ผลมีเนื้อ รูปกลม สีแดง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มม.


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : พรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : พบที่อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา


สภาพนิเวศน์ : -


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.