กูดแต้ม
Tectaria polymorpha (Wall. ex Hook.) Copel., DRYOPTERIDACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เฟิร์น เหง้าสั้น ตั้งตรงหรือค่อนข้างตั้งตรง มีเกล็ดแข็งสีน้ำตาลเป็นมัน เกล็ดรูปแถบแกมรูปกึ่งสามเหลี่ยม กว้างประมาณ 2 มม. ยาวประมาณ 1 ซม. ขอบเกล็ดสีจางกว่าส่วนอื่น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 30-50 ซม. ยาว 30-60 ซม. แกนกลางใบประกอบด้านบนมีขนมาก ด้านล่างเกลี้ยง ก้านใบสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม ยาว 30-80 ซม. โคนมีเกล็ดแน่น ตอนบนมีเกล็ดประปราย ใบย่อย 1-5 คู่ ใบสร้างอับสปอร์แคบกว่าใบไม่สร้างอับสปอร์ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง 5-10 ซม. ยาว 20-30 ซม. ปลายเรียวแหลม มีติ่ง โคนสอบถึงมน ขอบค่อนข้างเรียบหรือบางทีหยักซี่ฟัน ใบย่อยที่ปลายใบใหญ่กว่าใบอื่นเล็กน้อย คือ กว้าง 6-10 ซม. ยาวประมาณ 20 ซม. ส่วนที่กว้างที่สุดของใบอยู่ประมาณ 2/3 จากยอด แผ่นใบบาง เส้นกลางใบย่อยมีขนสั้น นูนทางด้านล่าง เส้นร่างแหเห็นได้ชัด มีเส้นสั้นอยู่ภายในช่องร่างแห ก้านใบย่อยคู่ล่างยาวประมาณ 2.5 ซม. และลดขนาดความยาวลงโดยลำดับไปหาใบย่อยคู่บนสุด กลุ่มอับสปอร์รูปกลมหรือรูปไต อยู่บนเส้นสั้นในช่องร่างแหหรือตรงตำแหน่งที่สานกันเป็นร่างแห เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 มม. เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์เล็กและมีขน


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : เทือกเขาหิมาลัยด้านตะวันออก จีนตอนใต้ พม่า ศรีลังกา และภูมิภาคมาเลเซีย


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ทั่วทุกภาค


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นตามไหล่เขาในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา บนพื้นที่ระดับต่ำถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 ม.


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.