กะลิง
Diospyros pilosanthera Blanco, EBENACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 20 ม. เปลือกนอกสีดำ แตกเป็นร่องตามยาวลำต้น เปลือกในสีน้ำตาลชมพูอ่อน กระพี้สีขาว แก่นสีน้ำตาลอมดำ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง 3-8 ซม. ยาว 8-20 ซม. ปลายสอบมน โคนมนหรือสอบ แผ่นใบค่อนข้างบาง เส้นแขนงใบข้างละ10-18 เส้น เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว 0.5-1 ซม. ใบอ่อนมีขนนุ่มและจะค่อยๆ ร่วงไป ดอกแยกเพศ อยู่ต่างต้น ดอกเพศผู้เป็นช่อสั้น ออกตามง่ามใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 4-5 กลีบ กลีบเลี้ยงยาว 3-4 มม. เหยียดชี้ออก ขอบกลีบเป็นคลื่น โคนกลีบมักไม่เชื่อมติดกันและมีขนนุ่มทั้ง 2 ด้าน กลีบดอกยาว 0.7-1.2 ซม. โคนกลีบติดกันเป็นรูปแจกันทรงสูง ตอนปลายแยกเป็นแฉกมีความยาวไล่เลี่ยกับส่วนที่ติดกัน ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง ก้านดอกยาว 1-2 มม. มีขนสากทั่วไป เกสรเพศผู้ 8-16 อัน อับเรณูมีขนแซมตามแนวกลาง อาจมีรังไข่ไม่สมบูรณ์ที่มีขนประปรายทางด้านนอก ดอกเพศเมีย สีขาวอมเหลือง ออกเดี่ยวๆ หรือออกเป็นช่อสั้นๆ ตามกิ่งเหนือรอยแผลใบ ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 4-5 กลีบ ลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ แต่ใหญ่กว่า ก้านดอกสั้นมากหรือมองไม่เห็น รังไข่ป้อม มีขนสั้นหนาแน่น มี 8-10 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียมีอันเดียวและมีขนสั้นๆ แน่น เกสรเพศผู้ไม่สมบูรณ์ 4-6 อัน ผลป้อมหรือรูปไข่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-3 ซม. ยาว 2-4 ซม. ปลายมนหรือบุ๋มเล็กน้อย ผลอ่อนมีขนสั้นๆ แน่น และจะร่วงไปเมื่อผลแก่ วงกลีบเลี้ยงที่รองรับผลมีขนสากแน่นทางด้านนอก ด้านในมีขนนุ่ม ปลายกลีบเหยียดชี้ออกและลู่แนบไปตามผิวผล ขอบกลีบเป็นคลื่นมาก เส้นลายกลีบอาจเห็นได้รางๆ ก้านผลยาว 2-3 มม. เมล็ดแข็ง รูปจันทร์เสี้ยวหรือรูปไต


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : กัมพูชา เวียดนาม และภูมิภาคมาเลเซีย


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : พบทั่วทุกภาค


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นในป่าดิบ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับนำทะเล 10-150 ม.


เวลาออกดอก : มกราคม-มิถุนายน


เวลาออกผล : มีนาคม- มิถุนายน


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ :


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.