กระดูกค่าง
Diospyros undulata Wall. ex G. Don var. cratericalyx (Craib) Bakh., EBENACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง 20 ม. เปลือกสีดำค่อนข้างเรียบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ปลายทู่ หรือหยักคอดเป็นติ่งแหลม โคนสอบมน แผ่นใบหนา หรือค่อนข้างหนา แผ่นใบด้านบนเส้นเป็นร่อง ด้านล่างเป็นเส้นนูน เส้นใบย่อยแทบมองไม่เห็น ดอกแยกเพศ อยู่ต่างต้น ดอกเพศผู้ออกรวมกันเป็นช่อสั้นๆ ตามง่ามใบ กลีบเลี้ยง และกลีบดอกมีอย่างละ 4-5 กลีบ กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูปถ้วยปากกว้าง มีขนสากแน่นทางด้านนอก และมีขนค่อนข้างยาวทางด้านใน กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอด ส่วนที่แยกเป็นแฉกยาวไล่เลี่ยกับส่วนที่ติดกัน ด้านนอกมีขนค่อนข้างยาว ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้ 12-18 อัน มีขนยาวๆ แซมแน่น รังไข่ไม่สมบูรณ์มีขนประปราย ดอกเพศเมียออกเป็นดอกเดี่ยว ๆ ลักษณะคล้ายกับดอกเพศผู้แต่ขนาดใหญ่กว่า ทั้งกลีบเลี้ยง และกลีบดอกมีอย่างละ 4-5 กลีบ รังไข่มี 8 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1 เม็ด เกสรเพศผู้ไม่สมบูรณ์ 4-8 อัน ผลกลม ฐานมน ปลายมน หรือป้าน ผลอ่อนมีขนมาก และสาก แก่จัดขนจะน้อยลง เปลือกแห้งแข็งเหมือนไม้ ผลติดอยู่บนกลีบเลี้ยง รูปถ้วย กลีบเลี้ยงเมื่อยังอ่อนมีขนคล้ายเส้นไหมทั้งด้านนอก และด้านใน ขนด้านในจะติดอยู่จนกระทั้งผลแก่ ปลายกลีบเลี้ยงโค้งออก พื้นกลีบไม่จีบ และไม่มีเส้นลายกลีบ


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : พม่า และมาเลเซีย


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และมีมากทางภาคใต้


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นตามป่าดิบหรือป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 30-600 ม.


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.