กายอม
Rhododendron veitchianum Hook., ERICACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่มอิงอาศัย สูง 2-3 ม. กิ่งอ่อนมีขนเล็กน้อย กิ่งแก่เกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับใกล้ๆ กันเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง กลุ่มละ 3-7 ใบ รูปใบหอกแกมรูปไข่กลับหรือรูปไข่กลับแกมรี กว้าง 2-4.2 ซม. ยาว 5-10 ซม. ปลายป้าน มีติ่งสั้น โคนสอบหรือมน แผ่นใบด้านบนสีเข้มกว่าด้านล่าง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีเกล็ดสีน้ำตาลทั่วไป แผ่นใบหนา เส้นกลางใบนูนเห็นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ 8-22 เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว 1.5-1.8 ซม. มีขน ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกที่ปลายยอด ช่อหนึ่งมี 2-8 ดอก ดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน ตาดอกรูปไข่ ปลายแหลม ยาวประมาณ 2 ซม. มีเกล็ดปกคลุม ก้านดอกยาว 1-1.2 ซม. ใบประดับปลายแหลม โคนมีขน กลีบเลี้ยงโคนติดกันเล็กน้อย ยาว 7-8 มม. ด้านนอกมีเกล็ด มีขนบริเวณขอบกลีบ กลีบดอกกว้างยาว 6-7 ซม. มีกลิ่นหอมอ่อน โคนติดกันเป็นรูปกรวยแกมรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 กลีบ บานออก แผ่นกลีบกว้าง 4-4.3 ซม. ยาว 4-5 ซม. ขอบเป็นคลื่น ด้านนอกมีเกล็ด ที่โคนมีขนนุ่มคล้ายเส้นไหม มีประสีเหลืองหรือเหลืองอมเขียวแต้มเป็นทางปากหลอดลงไปถึงโคนกลีบดอก เกสรเพศผู้ 10-14 อัน ยาวไม่เท่ากัน ก้านชูอับเรณูเรียวบางที่โคนมีขนสั้นสีขาว อับเรณูยาว 4-5 มม. รังไข่รูปไข่ มี 5 พู มีเกล็ดหนาแน่น ก้านเกสรเพศเมียยาวเท่ากับความยาวของกลีบดอก ยอดเกสรเพศเมียค่อนข้างกลม จักเป็นพู ผลรูปทรงกระบอกคล้ายผลสมอ กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 2-3 ซม. ผิวหยาบ มีเกล็ดทั่วไป เมื่อแก่แตกเป็น 5 เสี่ยง มีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดแบน เล็กมาก มีปีกบางใสล้อมรอบ


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : พม่า และลาว


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ภาคเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้


สภาพนิเวศน์ : บนภูเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,400-2,565 ม. ขึ้นในป่าดิบเขาตามคบไม้ใหญ่ ตามซอกหินที่มีซากอินทรีย์สะสม หรือตามพื้นดินที่เป็นแอ่งชุ่มแฉะมีข้าวตอกฤาษี (Sphagnum mosses) ขึ้นทับถม


เวลาออกดอก : ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.