กระเบาใหญ่
Hydnocarpus anthelminthica Pierre ex Laness., FLACOURTIACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 10-20 ม. ลำต้นเปลา ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปใบหอกแกมรูปไข่ หรือรูปขอบขนาน กว้าง 3-7 ซม. ยาว 10-30 ซม. ปลายสอบเรียว โคนสอบหรือมน เบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบ เส้นแขนงใบอยู่เยื้องกันข้างละ 8-10 เส้น เส้นใบย่อยเป็นร่างแห ทั้งเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบ และเส้นใบย่อยเห็นได้ชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว 1.2-1.5 ซม. หูใบเล็ก ร่วงง่าย ดอกแยกเพศ อยู่ต่างต้น ดอกเพศผู้ออกเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ กลิ่นหอมมากจึงมักเรียกว่า แก้วกาหลง ก้านดอกยาว 1.5-3 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ ยาว 8-9 มม. มีขนอ่อนนุ่มทั้ง 2 ด้าน กลีบดอก 5 กลีบ สีชมพู รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาว 1.2-1.4 ซม. โคนกลีบด้านในมีเกล็ดรูปแถบ เกสรเพศผู้ 5 อัน ดอกเพศเมียออกเป็นช่อสั้นๆ ตามง่ามใบ กลีบเลี้ยง และกลีบดอกเหมือนกับดอกเพศผู้ เกสรเพศผู้ไม่สมบูรณ์ 5 อัน รูปกระสวย ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 5 แฉก รังไข่รูปไข่หรือรูปไข่กลับ มีขนสั้นๆ ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 8-12 ซม. ผิวเรียบ เปลือกแข็ง มีขนหรือเกล็ดสีน้ำตาล มี 30-50 เมล็ด อัดกันแน่น เมล็ดรูปไข่ เบี้ยว กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 1.5-1.9 ซม. ปลายทั้ง 2 ข้างมน


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : ภูมิภาคอินโดจีน


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ทั่วทุกภาค


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นตามป่าดิบ เขาหินปูน และตามริมน้ำ บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 30-1,300 ม.


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.