กระเบา
Hydnocarpus wrayi King, FLACOURTIACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 8-21 ม. กิ่งอ่อนมีขน กิ่งแก่เกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง 5-12.5 ซม. ยาว 12-25 ซม. ค่อนข้างหนา ปลายเป็นติ่งแหลมสั้นๆ โคนสอบกว้างถึงมน เบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบ ด้านบนเกลี้ยงและค่อนข้างเป็นมัน ด้านล่างมีขนสั้นๆ ตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบเยื้องกันข้างละ 8-10 เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว 1-2 ซม. ดอกแยกเพศ อยู่ต่างต้น ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อกระจุกสั้นๆ ตามง่ามใบช่อละ 2-3 ดอก ก้านดอกยาวประมาณ 4 มม. กลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 มม. ด้านนอกมีขน กลีบดอก 7-10 กลีบ สีขาวหรือขาวอมเขียว รูปขอบขนาน กว้างยาวประมาณ 4 มม. ที่โคนด้านในมีเกล็ดหนาและมีขน เกสรเพศผู้ 15-17 อัน ดอกเพศเมียออกเดี่ยวๆ หรือเป็นคู่ตามง่ามใบ ก้านดอกยาวประมาณ 7 มม. กลีบเลี้ยง กลีบดอก และเกล็ดเหมือนกับดอกเพศผู้ เกสรเพศผู้ไม่สมบูรณ์ประมาณ 17 อัน รังไข่รูปไข่ มีขนเหมือนกำมะหยี่สีน้ำตาลอมเหลือง ยอดเกสรเพศเมียใหญ่ แยกเป็น 5 แฉก ผลรูปรีแกมรูปไข่แคบๆ กว้าง 4-5.5 ซม. ยาว 7-10 ซม. สอบเรียวไปยังปลายทั้งสอง ที่ปลายเป็นจะงอยเปลือกแข็ง มีขนเหมือนกำมะหยี่สีน้ำตาลอมเหลือง ผลแห้งเป็นร่องเล็กๆ ตามยาวบ้าง เมล็ดมีจำนวนมาก รูปยาวเรียว ยาวประมาณ 2 ซม. ด้านหนึ่งเรียบ อีกด้านหนึ่งนูน


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : แหลมมลายู และเกาะบอร์เนียว


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ภาคใต้


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นในป่าดิบตามไหล่เขา บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100 ม.


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.