กระบก
Irvingia malayana Oliv. ex A. Benn., IRVINGIACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูง 10-30 ม. ลำต้นเปลา โคนต้นมักเป็นพอน เปลือกสีเทาอ่อนแกมน้ำตาล ค่อนข้างเรียบ บางทีแตกเป็นสะเก็ด กระพี้สีขาวอมเหลืองอ่อน แก่นสีเทาอมน้ำตาลและมีสารจำพวกทรายอยู่มาก เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือกลมรี แน่นทึบ สีเขียวเข้ม ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ รูปรี หรือรูปรีแกมรูปขอบขนานจนถึงรูปใบหอก กว้าง 2.5-9 ซม. ยาว 5-20 ซม. ปลายสอบเรียวเป็นติ่งมน โคนมน แหลม หรือเว้าเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านล่างสีเข้มกว่าเล็กน้อย เส้นแขนงใบแบบขนนก มีข้างละ 9-16 เส้น เส้นใบย่อยเป็นร่างแหเห็นชัดทั้ง 2 ด้าน ก้านใบยาว 0.5-1.4 ซม. มีหูใบที่มีลักษณะพิเศษคือ ม้วนหุ้มยอด เรียวแหลม โค้งเล็กน้อยเป็นรูปดาบ ยาวถึง 3 ซม. เมื่อหูใบร่วงไปจะทำให้กิ่งอ่อนมีรอยแผลรอบข้อ ช่อดอกออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว 5-15 ซม. สีขาวอมเขียวอ่อน ก้านดอกยาวประมาณ 1 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่หรือรูปขอบขนาน ยาว 1-2 มม. ปลายมน กลีบดอก 5 กลีบ รูปขอบขนานหรือรูปไข่ค่อนข้างยาว ใหญ่กว่ากลีบเลี้ยงประมาณ 3 เท่า เมื่อดอกบานปลายกลีบจะพับเข้าหาก้านดอก เกสรเพศผู้ 10 อัน เรียงเป็น 2 ชั้น รังไข่มี 2 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียสั้น มีอันเดียว ผลรูปกลมรีหรือค่อนข้างเป็นรูปไข่ แบนเล็กน้อย คล้ายผลมะม่วงขนาดเล็ก กว้าง 2-3 ซม. ยาว 3.5-5 ซม. ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเหลือง มีเนื้อหุ้มเหมือนมะม่วง เมล็ดแข็ง เนื้อในเมล็ดสีขาว มีน้ำมัน


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : แถบภูมิภาคอินโดจีน


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ทั่วทุกภาค


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นในป่าผลัดใบ และป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 150-300 ม.


เวลาออกดอก : เดือนมกราคมถึงมีนาคม


เวลาออกผล : เดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.