กันเกรา
Fagraea fragrans Roxb., LOGANIACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 20-30 ม. ลำต้นแตกกิ่งต่ำ ปลายกิ่งลู่ลงสู่พื้นดิน เรือนยอดแน่นเป็นรูปกรวยคว่ำ เปลือกนอกหยาบ หนา สีน้ำตาลเข้มหรือสีเทาปนดำ แตกเป็นร่องลึกตามยาวไม่เป็นระเบียบ เปลือกในสีน้ำตาล กระพี้สีเหลือง ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง 2-4 ซม. ยาว 6-12 ซม. ปลายแหลมยาว โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่า ก้านใบยาว 0.6-1.8 ซม. มีหูใบระหว่างก้านใบคล้ายรูปถ้วยเล็กๆ ช่อดอกออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว 5-10 ซม. แยกแขนงสั้นๆ มีดอกจำนวนมาก เมื่อบานเต็มที่กว้าง 1.6-2.2 ซม. กลิ่นหอมเย็น ดอกแรกบานสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจนถึงเหลืองอมส้มเมื่อร่วงหล่น กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ติดกันคล้ายรูประฆัง ยาว 2-3 มม. กลีบดอก 5 กลีบ ติดกันคล้ายรูปแจกัน ยาว 1.3-2.2 ซม. ปลายแยกเป็น 5 แฉก ปลายกลีบมน เกสรเพศผู้ 5 อัน ยาว 1.8-2.3 ซม. ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก รังไข่มี 2 ช่อง ยอดเกสรเพศเมียบวมพองคล้ายหมวกเห็ด ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ผลมีเนื้อ กลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 6-8 มม. มักมีติ่งแหลมสั้นๆ ติดอยู่ที่ปลายสีส้มอมเหลืองแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อผลแก่ มีรสขม ผลแก่ไม่แตก มีเมล็ดเล็กมากจำนวนมาก


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : หมู่เกาะแถบทะเลอันดามัน อินเดียตอนเหนือ พม่าตอนใต้ เวียดนาม มาเลเซีย


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : น่าน, ลำปาง, นครพนม, สุรินทร์, อุบลราชธานี, ตราด, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, ตรัง, สตูล, นราธิวาส


สภาพนิเวศน์ : พื้นที่ราบต่ำโล่ง บนดินร่วนปนทรายที่ชื้นแฉะ หรือขึ้นใกล้น้ำในป่าเบญจพรรณชื้นทั่วไป


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
2) Santisuk, T. and Larsen, K., eds. 1997. Flora of Thailand (Vol.6: 3). Bangkok. Diamond Printing.