ก่ายกอมเครือ
Aspidopterys tomentosa (Blume) Juss., MALPIGHIACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้เถาเนื้อแข็ง ตามกิ่งก้านและใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลแดง ซึ่งจะค่อยๆ หลุดไป ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม มีรูปร่างหลายแบบ ค่อนข้างกลม รูปไข่ รูปไข่กลับ รูปใบหอก หรือรูปรี กว้าง 5-14 ซม. ยาว 6-13 ซม. ปลายใบอ่อนเรียวแหลม ปลายใบแก่รูปหัวใจกลับหรือมนมีติ่งแหลม โคนมนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง เมื่อแห้งสีขาวนวล ด้านล่างมีขนสีเหลืองหรือน้ำตาลหนาแน่น หรือบางครั้งเกลี้ยง เส้นใบนูนเห็นเด่นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว 1-4 ซม. หูใบเล็กมาก ร่วงง่าย ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ก้านช่อดอกยาว 1.5-7 ซม. มีขนสีเหลืองหรือน้ำตาลตลอดถึงแกนช่อ ก้านดอกเรียว ยาว 0.5-2 ซม. มีข้อต่อตรงบริเวณต่ำกว่าจุดกึ่งกลางของก้านดอก มีใบประดับที่โคนก้านดอกยาว 2-3 มม. ปลายแหลม มีใบประดับย่อยคู่หนึ่ง เล็กมาก ปลายแหลม ติดตรงก้านดอกในตำแหน่งต่ำกว่าข้อต่อของก้านดอกเล็กน้อย กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เล็กมาก รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายมน กลีบดอก 5 กลีบ ใหญ่กว่ากลีบเลี้ยงเล็กน้อย สีขาวหรือเหลืองอ่อน รูปขอบขนาน ปลายมน เกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านชูอับเรณูสั้น รังไข่รูปไข่เล็กมาก มี 3 พู แต่ละพูมีปีก 3 ปีกที่ด้านข้างทั้งสองและสันกลาง ผลแตกได้เป็น 3 เสี่ยง แต่ละเสี่ยงมีปีกบางใส ปีกที่แผ่ออกไปทั้ง 2 ข้างของแต่ละเสี่ยงเป็นรูปไข่ กว้าง 1.5-3 ซม. ยาวประมาณ 2.5 ซม. ปีกตรงสันกลางเจริญออกมาเพียงเล็กน้อย เมื่อแต่ละเสี่ยงหลุดไปแล้วเหลือแกนรูปกรวยแหลมติดอยู่กับก้านของผล เมล็ดกว้างประมาณ 2 มม. ยาวประมาณ 1 ซม.


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : ภาคตะวันออกของพม่า กัมพูชา ภูมิภาคมาเลเซีย


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ทั่วทุกภาค, เชียงราย, เชียงใหม่, ลำปาง, พิษณุโลก, ชัยภูมิ, สระบุรี, ชลบุรี, กาญจนบุรี


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นในบริเวณป่าดิบชื้น บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 275-2,000 ม.


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
2) Smitinand, T. and Larsen, K. 1991. Flora of Thailand (Vol.5: 3). Bangkok: Chutima Press.