กระเจี๊ยบแดง




ชื่อพื้นเมือง : กระเจี๊ยบ กระเจี๊ยบแดง กระเจี๊ยบเปรี้ยว (ภาคกลาง), ผักเกงเขง ส้มเก๋งเคง ส้มพอเหมาะ (ภาคเหนือ), ส้มตะเลงเครง (ตาก), ส้มปู๋ (แม่ฮ่องสอน), ส้มพอดี (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hibiscus sabdariffa L.


ชื่อวงศ์ : MALVACEAE


ชื่อสามัญ : Jamaica Sorrel, Red Sorrel, Roselle, Rozelle


ลักษณะ : ไม้ล้มลุก สูง 1-2 ม. ผิวค่อนข้างเกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบของต้นที่ยังเล็กและใบที่อยู่ใกล้ดอกบางใบมีแผ่นใบคล้ายรูปไข่และมีขนาดเล็กกว่าใบโดยทั่วไปซึ่งมีแผ่นใบคล้ายรูปไข่กลับและมีขอบใบหยักเว้าลึก 3-5 หยัก ปลายหยักแหลม โคนมน เส้นใบออกจากโคนใบ 3-5 เส้น ดอกใหญ่ สีเหลืองอ่อน กลางดอกสีแดง ออกเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ ริ้วประดับเรียวแคบ สีแดง มี 8-12 เส้น อยู่เป็นวงรอบกลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยงโคนติดกันคล้ายถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยมแหลม 5 แฉก แต่ละแฉกมีเส้นกลีบ 3 เส้น กลีบดอกใหญ่ สีเหลือง มี 5 กลีบ รูปไข่กลับ โคนกลีบสีแดงเข้ม เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นหลอดยาว 1-3 ซม. หุ้มเกสรเพศเมีย อับเรณูสีนวลขนาดเล็กจำนวนมากอยู่รอบหลอด ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว ปลายแยกเป็น 5 แฉก ยอดเกสรเพศเมียสีม่วงแดง เป็นตุ่มเล็กและมีขน ผลสีแดง รูปไข่ป้อม ไม่เป็นฝักยาวอย่างกระเจี๊ยบ มีกลีบเลี้ยงที่ขยายใหญ่รองรับอยู่จนผลแก่ เมล็ดสีน้ำตาล รูปไต ขนาด 4-6 มม.


ประโยชน์ : ใบอ่อนและยอดมีรสเปรี้ยวเล็กน้อย ใช้ต้มหรือแกง กลีบเลี้ยงสีแดงและรสเปรี้ยว มีคุณค่าทางอาหาร ใช้ทำเครื่องดื่ม เช่น ชา น้ำผลไม้ ไวน์ ตลอดจนทั้งทำอาหารหวานบางจำพวก เช่น แยม เมล็ดมีน้ำมันมาก เส้นใยจากต้นใช้ทำเชือกและกระสอบ ในไต้หวันใช้เมล็ดเป็นยาแผนโบราณเพื่อเป็นยาระบาย ยาขับปัสสาวะ และยาบำรุง


โทษ : -


ข้อมูลเพิ่มเติม