กระเจี๊ยบแดง
Hibiscus sabdariffa L., MALVACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก สูง 1-2 ม. ลำต้นอ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีแดงม่วง ผิวค่อนข้างเกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบของต้นที่ยังเล็กและใบที่อยู่ใกล้ดอกบางใบมีแผ่นใบคล้ายรูปไข่และมีขนาดเล็กกว่าใบโดยทั่วไปซึ่งมีแผ่นใบคล้ายรูปไข่กลับและมีขอบใบหยักเว้าลึก 3-5 หยัก แต่ละหยักกว้าง 0.5-3 ซม. ยาว 3-8 ซม. ปลายหยักแหลม โคนมน เส้นใบออกจากโคนใบ 3-5 เส้น แผ่นใบด้านล่างมีเส้นใบนูนเด่นชัด โคนเส้นกลางใบมีต่อม 1 ต่อม ก้านใบยาว 4-15 ซม. หูใบเป็นเส้นเรียว ยาว 0.8-1.5 ซม. ดอกใหญ่ สีเหลืองอ่อน กลางดอกสีแดง ออกเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ มีขน ริ้วประดับเรียวแคบ สีแดง มี 8-12 เส้น ยาวประมาณ 1 ซม. อยู่เป็นวงรอบกลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยงโคนติดกันคล้ายถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยมแหลม 5 แฉก ยาว 1-2 ซม. แต่ละแฉกมีเส้นกลีบ 3 เส้น โคนเส้นกลางกลีบมีต่อม 1 ต่อม กลีบดอกใหญ่ สีเหลือง มี 5 กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง 2-3 ซม. ยาว 3-5 ซม. โคนกลีบสีแดงเข้ม เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นหลอดยาว 1-3 ซม. หุ้มเกสรเพศเมีย อับเรณูสีนวลขนาดเล็กจำนวนมากอยู่รอบหลอด ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว ปลายแยกเป็น 5 แฉก ยอดเกสรเพศเมียสีม่วงแดง เป็นตุ่มเล็กและมีขน ผลสีแดง รูปไข่ป้อม ไม่เป็นฝักยาวอย่างกระเจี๊ยบ กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 1.5-2 ซม. มีกลีบเลี้ยงที่ขยายใหญ่ ยาว 2-5 ซม. รองรับอยู่จนผลแก่ เมล็ดสีน้ำตาล รูปไต ขนาด 4-6 มม.


ถิ่นกำเนิด : พรรณไม้พื้นเมืองของทวีปแอฟริกา


การกระจายพันธุ์ : ปลูกกันอย่างกว้างขวางทั่วไปในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อนทั่วโลก


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ทั่วทุกภาค


สภาพนิเวศน์ : -


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.