กาเล็ดกาเว้า
Stachyphrynium jagorianum (K. Koch) K. Schum., MARANTACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุกมีเหง้า ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามซ้อนสลับกัน 2-3 ใบ ใบรูปขอบขนาน กว้าง 5-8 ซม. ยาว 15-20 ซม. ปลายเป็นติ่งยาว โคนสอบหรือมน แผ่นใบด้านบนมีประสีเขียวเข้มเป็นทาง บริเวณเส้นกลางใบมักมีขนสั้นๆ ด้านล่างสีอ่อนกว่าด้านบน เกลี้ยงหรือมีขนสั้นๆ เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงขนานกันตามยาว ก้านใบยาว 10-20 ซม. มีขนสั้นๆ บริเวณช่วงต่อโคนใบ และก้านใบโป่งออก ยาวประมาณ 1 ซม. กาบใบยาว 8-10 ซม. ช่อดอกสั้น ออกตอนกลางของลำต้น ยาว 3-6 ซม. ก้านช่อดอกยาว 1-2 ซม. และยาวขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเป็นผล ดอกเล็กสีขาว ตรงกลางสีเหลือง ใบประดับ 4 ใบ เรียงตรงข้ามซ้อนสลับในระนาบเดียวกัน รูปขอบขนาน ปลายแหลม กว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 2 ซม. ใบประดับ 1-2 คู่ กลีบเลี้ยง 3 กลีบ เล็กมาก กลีบดอกชั้นนอกติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 1.7 ซม. ปลายแยกออกเป็นกลีบแคบๆ 3 กลีบ ยาวประมาณ 9 มม. กลีบดอกชั้นกลาง 2 กลีบ รูปไข่กลับ เกิดจากเกสรเพศผู้อันนอกที่ไม่สมบูรณ์ ยาวประมาณ 9 มม. กลีบดอกชั้นใน 2 กลีบ รูปขอบขนาน เกิดจากเกสรเพศผู้อันในที่ไม่สมบูรณ์ ยาวประมาณ 5 มม. ปลายกลีบสีเหลือง เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี 1 อัน รังไข่จมอยู่ในฐานดอก มีออวุล 1-3 เม็ด ผลค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.2 ซม. เมื่อแห้งจะแตก มี 1-2 เมล็ด เมล็ดเล็ก สีน้ำตาล รูปขอบขนาน ผิวเรียบ ด้านหนึ่งโค้งคล้ายหลังเต่า อีกด้านหนึ่งแบนราบ มีเยื่อนุ่มสีแดง


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : มาเลเซีย


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นในที่ร่มรำไร ในป่าดิบชื้น บนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ 300 ม.


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.