กางหลวง
Albizia chinensis (Osbeck) Merr., LEGUMINOSAE-MIMOSOIDEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15-25 ม. ลำต้นใหญ่ แตกกิ่งต่ำ เรือนยอดแผ่กว้างคล้ายรูปร่ม เปลือกเรียบ สีเทาคล้ำหรือเทาอมน้ำตาล กิ่งอ่อนมีขนประปราย กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ แกนกลางใบประกอบยาว 10-30 ซม. หูใบเป็นแผ่น กว้างประมาณ 3 ซม. ยาวประมาณ 5 ซม. ร่วงง่าย ใบประกอบแยกแขนง 4-15 คู่ ยาว 4-12 ซม. ตรงรอยต่อระหว่างแกนกลางใบประกอบกับแขนงมีต่อมนูนสีคล้ำชัดเจน ตามแขนงมีใบย่อยเล็กๆ เรียงตรงข้ามกัน 20-35 คู่ รูปขอบขนาน กว้างประมาณ 3 มม. ยาวประมาณ 1 ซม. ปลายแหลมเป็นติ่งสั้นๆ โคนมนเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบทั้ง 2 ด้านมีขนประปราย โดยเฉพาะบริเวณเส้นกลางใบและขอบใบ เส้นแขนงใบด้านข้างปรากฎชัดเจน ไม่มีก้านใบย่อย ช่อดอกออกตามปลายกิ่ง แตกแขนง ยาว 12-18 ซม. มีขนประปราย โคนก้านช่อมีหูใบเป็นแผ่นติดอยู่ เมื่อดอกบานเต็มที่ช่อดอกกว้าง 3-4 ซม. ช่อดอกประกอบด้วยช่อกลมหลายช่อ แต่ละช่อมีดอกเล็กๆ ที่ไม่มีก้านจำนวน 10-20 ดอก อัดกันแน่น สีขาว กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ติดกันเป็นหลอด ยาว 3-5 มม. ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม 5 แฉก มีขนเล็กน้อย กลีบดอก 5 กลีบ ติดกันคล้ายรูปแตร ยาว 0.7-1 ซม. ปลายแยกเป็น 5 แฉก ยาว 2-3 มม. มีขนประปราย เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นหลอด ยาวไล่เลี่ยกับหลอดของกลีบดอกหรือยาวกว่าเล็กน้อย รังไข่แบนยาว ฐานไม่คอด ฝักแบน รูปขอบขนาน คล้ายฝักกระถิน กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 10-16 ซม. ปลายฝักแหลมเป็นติ่ง ผนังหนา สีน้ำตาลอมเขียว ฝักแก่ไม่แตก มีหลายเมล็ด เมล็ดรูปรีแบน กว้าง 4-5 มม. ยาว 7-8 มม. หนาประมาณ 1 มม. เรียงเป็นแถวเดี่ยวตามยาวของฝัก


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : ภูมิภาคเอเชียเขตร้อนและกึ่งร้อนทั่วไป


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้, เชียงใหม่, แพร่, น่าน, ลำปาง, พิษณุโลก, เลย, กาญจนบุรี


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นตามริมลำธาร ที่โล่งในป่าเบญจพรรณชื้น บนภูเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 500 ม. ขึ้นไป พบทั่วไปตามชายป่าดิบเขาจนถึงระดับประมาณ 1,800 ม. จัดเป็นพรรณไม้เบิกนำ (pioneer species) ที่โตเร็วชนิดหนึ่งของป่าดิบเขา ขึ้นปกคลุมพื้นที่ที่เป็นทุ่งหญ้าโล่งบนภูเขาได้ดีเมื่อไม่มีไฟป่ารบกวน


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
2) Smitinand, T. and Larsen, K. 1985. Flora of Thailand (Vol.4: 2). Bangkok: TISTR Press.