กร่าง


ชื่อพื้นเมือง : กร่าง (ภาคกลาง), ไทรทอง (นครศรีธรรมราช), ลุง (เชียงใหม่, ลำปาง), ฮ่างขาว ฮ่างหลวง ฮ่างเฮือก (เชียงราย), ไฮคำ (เพชรบูรณ์)


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus altissima Blume


ชื่อวงศ์ : MORACEAE


ชื่อสามัญ : -


ลักษณะ : ไม้ต้นขนาดใหญ่ มียางขาว และมีรากอากาศ ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปรี หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายมนเป็นติ่งแหลมสั้นๆ โคนค่อนข้างมน ขอบเรียบ แผ่นใบหนา หูใบรูปใบหอก 2 อัน ช่อดอกไม่มีก้าน ออกเป็นคู่ตรงง่ามใบ ที่โคนช่อดอกยังมีใบประดับขนาดเล็กอีก 3 ใบรองรับช่อดอก และติดอยู่กับผล โคนเชื่อมกัน ช่อดอกมีรูปร่างคล้ายผล คือมีฐานรองดอกเจริญเปลี่ยนแปลง ขยายใหญ่เป็นกระเปาะและมีรูเปิดที่ปลาย ดอกแยกเพศอยู่ภายในกระเปาะ ดอกเพศผู้ มีจำนวนมากแซมอยู่ทั่วไป กลีบรวมชั้นเดียว 4 กลีบ เกสรเพศผู้ 1อัน ดอกเพศเมียโคนกลีบติดกันปลายแยกเป็น 4 แฉก และมีดอกเพศเมียไม่สมบูรณ์เพศอาจมีไข่ หรือตัวอ่อนของแมลง อยู่ภายใน (gall-flower) ผลแบบมะเดื่อ (syconium) รูปไข่ สุกสีเหลือง ส่วนที่เป็นเนื้อของผลคือฐานรอง ดอกซึ่งเปลี่ยนแปลงไป ภายใน ผลประกอบด้วยผลเล็กๆ จำนวนมาก ซึ่งแต่ละผลมีเนื้อบางๆ และมี 1 เมล็ด


ประโยชน์ : รากอากาศของต้นกร่างเหนียวใช้ทำเชือกได้ เปลือกชั้นในใช้ทำกระดาษ ต้นใช้เลี้ยงครั่ง


โทษ : -


ข้อมูลเพิ่มเติม