กูดห้อม
Crypsinus oxylobus (Wall. ex Kunze) Sledge, POLYPODIACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เฟิร์นอิงอาศัย เหง้าทอดยาว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 มม. มีเกล็ดสีน้ำตาลหนาแน่นทั่วไป ปลายสีจางกว่าที่โคน เกล็ดรูปก้นปิดกลม กว้างประมาณ 1 มม. ยาวประมาณ 5 มม. ปลายเรียวเป็นเส้น ขอบหยักซี่ฟัน ใบเดี่ยว รูปขอบขนานแกมรูปกึ่งสามเหลี่ยม กว้างประมาณ 25 ซม. ยาวประมาณ 30 ซม. แผ่นใบเว้าลึกแบบขนนกเกือบถึงเส้นกลางใบ ทำให้ใบมีลักษณะเป็นแฉก เหลือส่วนใบกว้าง 0.5-1.7 ซม. แฉกด้านข้างมี 1-8 คู่ ที่ปลายใบมี 1 แฉก เส้นกลางใบด้านบนสีเขียวหรือน้ำตาลอ่อน ด้านล่างสีน้ำตาล แฉกที่โคนใหญ่ที่สุดและค่อยๆ เรียวเล็กลงเมื่อใกล้ปลายใบ แฉกด้านข้างรูปขอบขนาน กว้าง 1.5-4.5 ซม. ยาวประมาณ 15 ซม. ปลายเรียวแหลม ขอบเรียบ แฉกที่ปลายยาวกว่า เส้นกลางแฉกนูนเป็นสันทั้ง 2 ด้าน เส้นใบที่แยกจากเส้นกลางแฉกเห็นได้ชัดเจน โดยทั่วไปเส้นใบสานเป็นร่างแหที่มีขนาดช่องร่างแหไม่แน่นอน มีเส้นสั้นยื่นเข้าไปในช่องร่างแห แผ่นใบบาง เรียบ ด้านบนสีเขียวอ่อนถึงเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน ก้านใบสีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาล ยาวได้ถึง 20 ซม. ไม่มีเกล็ด มีข้อต่อกับเหง้าซึ่งจะหลุดร่วงเมื่อใบแก่เหลือเฉพาะส่วนของเหง้าที่แตกสาขายื่นมาต่อกับก้านใบ กลุ่มอับสปอร์รูปกลม เรียงเป็นแถวขนาบข้างเส้นกลางแฉก เส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4 มม.


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : จีนทางตะวันตกเฉียงใต้ อินเดียตอนเหนือ พม่าตอนเหนือ และภูมิภาคอินโดจีน


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นปนกับมอสส์บนต้นไม้ใหญ่หรือบนก้อนหินที่ชื้นในป่าดิบเขา บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,000-2,300 ม.


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.