กระโถนฤาษี
Sapria himalayana Griff., RAFFLESIACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : พืชเบียนล้มลุกที่ไม่สังเคราะห์แสง อาศัยเกาะกินน้ำเลี้ยงจากรากของพืชอื่น ลำต้นยาวไม่เกิน 1 ซม. ใบไม่มีสีเขียว ลดรูปลงไปเป็นกาบหุ้มลำต้นและโคนดอก จำนวน 10 ใบ ค่อนข้างกลม ปลายมน แต่ละต้นออกดอกเพียงดอกเดียวแล้วเหี่ยวแห้งไป ดอกของแต่ละต้นมักอยู่ใกล้กันเป็นกลุ่ม ดอกตูมกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-7 ซม. อุ้มน้ำ มียางขาว เมื่อดอกบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลาง 10-15 ซม. กลิ่นเหม็น ดอกแยกเพศ กลีบรวมขนาดไม่เท่ากัน เรียงเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 5 กลีบ โคนกลีบรวมสีขาว ติดกันคล้ายถ้วยหรือกระโถน ปลายกลีบแยกจากกัน สีแดงคล้ำ มีประสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทั่วไป บริเวณปากถ้วยหรือตรงส่วนที่กลีบรวมแยกจากกันมีกระจังบางๆ สีขาวติดอยู่เป็นรูปวงแหวน ตรงกลางเปิดออกเป็นช่องกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 ซม. บนแผ่นกระจังมีเส้นฝอยคล้ายขนขนาดใหญ่สีขาวหรือเหลืองจำนวนมาก เหยียดขึ้นข้างบน เรียงเป็นรูปวงแหวนล้อมรอบช่องเปิดของแผ่นกระจัง เมื่อดอกบานเต็มที่เส้นฝอยจะเปลี่ยนเป็นสีแดง บริเวณด้านในของกลีบรวมรูปถ้วยใต้แผ่นกระจังมีสีแดงคล้ำหรือสีเลือดหมูและมีสันยาวประมาณ 20 สัน เรียงกันห่างๆ เป็นระยะ ดอกเพศผู้มีแกนกลมตรงกลางฐานดอกใต้ช่องวงแหวน เกสรเพศผู้ 20 อัน ติดอยู่รอบใต้ส่วนปลายของแกนที่ผายออก ไม่มีก้านชูอับเรณู ดอกเพศเมียมีแกนกลม ขนาดใหญ่กว่าในดอกเพศผู้ ส่วนปลายแผ่ออกคล้ายรูปจาน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณขนาดช่องวงแหวนของแผ่นกระจังหรือใหญ่กว่าเล็กน้อย มีเกสรเพศผู้ไม่สมบูรณ์ 20 อัน ติดอยู่รอบแกนกลมใต้แผ่นรูปจาน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบฝังอยู่ในฐานดอก มีหลายช่องและมีออวุลจำนวนมาก


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : อินเดีย กัมพูชา และเวียดนาม


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ภาคเหนือ และภาคใต้


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นในป่าดิบบนเขาสูง เกาะเบียนรากไม้ เช่น หุ่นแป (Tetrastigma cruciatum Craib et Gagnep.), เครือเขาน้ำ (T. lanceolarium Planch.) และเถาส้มกุ้ง (Illigera trifoliata Dunn)


เวลาออกดอก : ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.