กูดงอแง
Lygodium japonicum (Thunb.) Sw., SCHIZAEACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เฟิร์น เหง้าสั้น ทอดขนานใต้ดิน มีเกล็ดสีน้ำตาลดำหนาแน่น ใบประกอบแบบขนนกสองถึงสามชั้น ใบมีความยาวไม่จำกัด ก้านใบและแกนกลางใบประกอบเลื้อยพันต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ใกล้เคียง ก้านใบสีน้ำตาลอ่อน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มม. ยาวได้ถึง 30 ซม. หรือมากกว่า ที่โคนมีเกล็ดและขนหนาแน่น ตอนบนมีขนประปราย แกนกลางใบประกอบมีลักษณะเหมือนกับก้านใบ ตอนปลายแยกสาขา 2 ครั้ง แกนกลางใบประกอบชั้นที่ 1 ยาว 0.3-1.5 ซม. มีขนหนาแน่น แกนกลางใบประกอบชั้นที่ 2 แผ่เป็นปีกเห็นได้ชัดเจน ด้านบนมีเกล็ดหนาแน่น ด้านล่างมีขนประปราย แยกสาขาจากแกนกลางใบประกอบชั้นที่ 1 แบบขนนก และแยกสาขาเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น มีโครงร่างรูปสามเหลี่ยมหรือรูปค่อนข้างกลม แต่ละสาขายาวได้ถึง 20 ซม. ใบย่อยคู่ล่างมีก้านใบยาวประมาณ 3 มม. แผ่นใบรูปนิ้วมือ 5-7 แฉก แฉกกลางใหญ่ที่สุด ใบย่อยคู่ถัดขึ้นไปมี 3 แฉก หรือเป็นรูปเงี่ยงใบหอก ขอบจักฟันเลื่อยละเอียด ปลายมนหรือค่อนข้างแหลม เส้นใบอิสระ เห็นได้ชัดเจนทั้ง 2 ด้าน และมีขนสีน้ำตาล กลุ่มอับสปอร์อยู่ยื่นออกมาจากขอบใบย่อยที่สร้างอับสปอร์ กว้างประมาณ 2 มม. ยาว 0.3-1.2 ซม. เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์มีขนที่ขอบ


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : ศรีลังกา อินเดีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ทั่วทุกภาค


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นในทุ่งหญ้าหรือตามไหล่เขาในป่าเบญจพรรณ บนพื้นที่ระดับต่ำถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,300 ม.


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.