กำลังควายถึก
Smilax perfoliata Lour., SMILACACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้เถา เถากลม หรือเป็นเหลี่ยมมนเกลี้ยง หรือมีหนามโค้งประปราย หนา 0.3-1.2 ซม. ช่วงระหว่างข้อยาว 8-25 ซม. ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ รูปรี หรือรูปไข่แกมรี กว้าง 2.5-13 ซม. ยาว 7-18 ซม. ปลายแหลม โคนมน หรือค่อนข้างแหลม มีบ้างที่โคนใบเว้าตื้นๆ แผ่นใบหนา มีนวลเล็กน้อย เส้นแขนงใบออกจากโคนใบ 5-7 เส้น นูนเห็นเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบ 3 เส้นที่อยู่ตรงกลาง โคนเชื่อมกันห่างจากโคนใบ 0.5-1.3 ซม. เส้นใบย่อยสานกันเป็นร่างแห ก้านใบรูปสามเหลี่ยม ยาว 1.5-6 ซม. ก้านใบตอนโคนแผ่ออกเป็นกาบกว้าง 0.7-1.2 ซม. ยาว 1.5-2.5 ซม. โคนกาบรูปหัวใจเว้าลึกโอบรอบลำต้น ปลายแหลม มีมือพัน 1 คู่ ยาว 7-20 ซม. ดอกแยกเพศ อยู่ต่างต้น ออกตามโคนหรือตอนกลางกิ่ง เป็นช่อกระจะรวมที่มีช่อย่อยๆ แบบช่อซี่ร่ม ช่อยาว 1-3 ซม. ส่วนมากมีช่อซี่ร่ม 1-3 ช่อ แต่ในช่อดอกเพศผู้อาจยาวได้ถึง 15 ซม. และมีช่อซี่ร่มได้ถึง 15 ช่อ และข้อที่ 4-6 ของช่อมีช่อซี่ร่มได้ข้อละ 2-4 ช่อ ที่โคนของแกนช่อดอกมีใบประดับย่อย รูปไข่ปลายแหลม ยาว 0.8-1 ซม. ก้านช่อดอกแข็ง ยาว 2-5 ซม. ช่อซี่ร่มเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-5 ซม. มีดอกย่อย 20-70 ดอก ก้านช่อยาว 0.7-1.5 ซม. วงกลีบรวม 6 กลีบ แยกจากกัน เรียงเป็น 2 วง ดอกเพศผู้กลีบรวมยาวประมาณ 6 มม. เมื่อดอกบานกลีบโค้งลง กลีบรวมวงนอกรูปขอบขนาน ปลายมน กว้างประมาณ 1 มม. กลีบรวมวงในแคบกว่าเกสเพศผู้ 6 อัน ดอกเพศเมียกลีบรวมรูปไข่แกมรูปใบหอก ยาว 4-5 มม. เมื่อดอกบานกลีบกางตรง กลีบรวมวงนอกกว้างประมาณ 1 มม. กลีบรวมวงในแคบกว่า รังไข่รูปรี อยู่เหนือวงกลีบ มี 3 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียมี 3 แฉก มีเกสรเพศผู้ไม่สมบูรณ์รูปคล้ายเข็ม 3 อัน ยาว 1-2 มม. ผลเนื้อนุ่ม รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.2 ซม. เมื่อสุกสีแดง มี 1-2 เมล็ด เมล็ดสีแดงเข้ม รูปไข่กลับเกือบกลม กว้างยาวประมาณ 5 มม.


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : จีน เนปาล ไต้หวัน อินเดีย พม่า และภูมิภาคอินโดจีน


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ทั่วทุกภาค


สภาพนิเวศน์ : พบตามป่าดิบ บนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ 1,500 ม.


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.