ดาวเรือง

ชื่อวิทยาศาสตร์
Tagetes erecta  L.
วงศ์ :  Compositae
ชื่อสามัญ :  African Marigold
ชื่ออื่น : คำปูจู้หลวง  (เหนือ)   ดาวเรืองใหญ่ (กลาง) พอทู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน

 

ลักษณะทั่วไป : ดาวเรื่อง (Marigold) มีถิ่นกำเนินในประเทศเม็กซิโก ในประเทศไทยภาษาท้องถิ่นทางภาคเหนือเรียก "ดอกคำปู้จู้" ซึ่งหมายถึงดอกไม้ที่มีกลีบสีเหลืองคล้ายทองคำ ดาวเรืองเป็นพืชล้มลุก สูงประมาณ 0.5-4 ฟุต ใบเป็นใบประกอบ มีลักษณะเรียวยาว ดอกมีลักษณะเป็นแบบดอกรวม ประกอบด้วยดอกย่อยเล็ก ๆ เป็นจำนวนมาก อัดซ้อนกันแน่นอยู่บนฐานรองดอก ดอกมีสีเหลือง ส้ม ครีม และขาว มีตั้งแต่ขนาดเล็ก คือประมาณ 1 นิ้ว จนถึงขนาดใหญ่ประมาณ 4 นิ้ว และเมื่อตัดลำต้น กิ่งก้านหรือใบของดาวเรือง จะมีกลิ่นเหม็น จึงทำให้แมลงไม่ค่อยรบกวน นอกจากนี้ภายในรากของดาวเรืองมีสารชนิดหนึ่งคือ แอลฟ่า เทอร์เธียนิล (& - terthienyl) ซึ่งเป็นสารที่สามารถควบคุมปริมาณไส้เดือนฝอยในดินได้เป็นอย่างดี
           ดาวเรือง ที่พบเห็นและปลูกในปัจจุบันมี 5 ชนิด คือ :
           1. Tagetes erecta หรือ ดาวเรืองอเมริกัน เป็นดาวเรืองชนิดต้นสูง ดอกใหญ่ ปลูกได้
ตลอดปี ถ้าปลูกในช่วงฤดูหนาวจะใช้เวลาเพียง 60 - 65 วัน แต่ถ้าปลูกในช่วงฤดูร้อนจะออกดอกช้าลง 10 - 15 วัน
           2. Tagetes patula หรือ ดาวเรืองฝรั่งเศส เป็นดาวเรือง ชนิดต้นเตี้ย ดอกเล็ก ปลูกได้เฉพาะฤดูหนาว และออกดอกดกมาก แต่ถ้าปลูกในฤดูร้อนจะเฝือใบ ไม่ออกดอก
           3. Triploid Marigold หรือ ดาวเรืองนักเก็ต (Nugget Marigolds) เป็นดาวเรืองลูกผสม ที่เกิดจากดาวเรืองอเมริกัน กับดาวเรืองฝรั่งเศส ลูกผสมที่ได้มีโครโมโซม 3 ชุด ออกดอกเร็ว และดอกบานทน ทั้งนี้เพราะดอกเป็นหมัน
           4. Tagetes tenuifolia หรือ Tagetes signata pumila หรือ ดาวเรืองซิกเน็ต (Signet Marigold) เป็นดาวเรืองชนิดต้นเตี้ย ดอกจิ๋ว นิยมปลูกมากในยุโรป มีพุ่มใหญ่ ออกดอกดก ขนาดดอกเล็กมาก เส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 1 นิ้ว กลีบดอกชั้นเดียว
           5. Tagetes filifolia หรือ ดาวเรืองใบ (Foliage Marigold) เป็นดาวเรืองที่มีใบสวยงามมาก ใบสวยเด่นกว่าดอก พุ่มต้นแน่น เหมาะสำหรับปลูกตามขอบแปลง
          สืบเนื่องจากโครงการวิจัยเรื่อง "Research on Cultivated Crops and Wild Plant for Dye
Production in the Highlands of Northern Thailand" ระหว่างปี พ.ศ. 2519 - 2522 ซึ่งได้รับทุนจาก ARS, USAID ผ่านโครงการเกษตรที่สูง ได้ศึกษาทั้งพืชป่าและพืชปลูกหลายชนิดเพื่อนำมาใช้เป็นสีผสมอาหาร ทั้งอาหารคน และอาหารสัตว์
          จากการวิเคราะห์ปริมาณแซนโตฟิล และแคโรทีน ในกลีบดอกดาวเรืองสดและแห้งหลายสิบพันธุ์ 4 กลุ่มคือ กลุ่มดอกสีเหลือง สีเหลืองอมส้ม สีส้มและสีแดง พบว่ากลุ่มดอกสีส้มเหมาะสำหรับปลูกเป็นพืชสีมากที่สุด ได้แก่ พันธุ์ทอรีดอร์, ออเรนจ์เลดี้, ปั้มกิ้นครัช และอะพอลโล โดยมีปริมาณแซนโตฟิล 15,249.54, 13,751.34, 13,376.79 และ 13,323.32 ppm. ตามลำดับ นอกจากจะนำไปใช้ประโยชน์เป็นสีผสมอาหารสำหรับมนุษย์แล้ว ผลงานวิจัยนี้ยังนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ โดยเฉพาะอาหารไก่ เพื่อเพิ่มความเข้มสีของไข่แดง และผิวหนังไก่ ขณะนี้มีการปลูกดาวเรืองเพื่อผลิตดอกดาวเรืองแห้ง เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารไก่อย่างกว้างขวาง มีพื้นที่ปลูกโดยเฉลี่ยประมาณปีละหนึ่งถึงสองหมื่นไร่ ทั้งนี้เพราะประเทศไทยมีภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ตลอดจนทรัพยากรนานัปการครบถ้วนสมบูรณ์ สามารถปลูกดาวเรืองได้ตลอดทั้งปีทั่วทั้งประเทศ ที่สำคัญคือผลพลอยได้จากธุรกิจนี้ กล่าวคือ หลังจากเก็บเกี่ยวดอกดาวเรืองหมดต้นแล้ว เกษตรกรจะได้ประโยชน์จากต้นและรากของดาวเรืองซึ่งสามารถผลิตสารแอลฟ่าเทอรีอีนิล (a - terthienyl) ได้จำนวนหนึ่ง สามารถป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยในดิน โดยการไถกลบทั้งต้นและรากลงในแปลงปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่มีปัญหาจากไส้เดือนฝอยในดิน อาทิ ยาสูบ มะเขือเทศ สตรอเบอรี่ และเยอบีร่า เป็นต้น
ประโยชน์
:
ปัจจุบันจากผลการค้นคว้าและวิจัยพืชที่ให้สารจากธรรมชาติพบว่า ดาวเรือง เป็นพืชที่มีประโยชน์ นอกเหนือจากการใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ ทำสารไล่แมลงแล้วยังพบว่าเป็นพืชที่ให้สารเบตาแคโรทีนจากธรรมชาติโดยตรงของดอกดาวเรือง ซึ่งคุณ สมบัติของสารเบตาแคโรทีนนี้จะทำหน้าที่เป็นโปรวิตามินเอ เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ นอกจากนี้ยังท ำหน้าที่เป็นแอนติออกซิแดนต์ในการป้องกันการเกิดมะเร็งในตับและปอดของร่างกาย เนื่องจากดาวเรืองเป็นพืชที่มีความผั นแปรทางพันธุกรรมสูงจึงทำให้มีความแตกต่างทั้งในด้านสายพันธุ์ ปริมาณสารแคโรทีน สารแซนโทฟีลล์และชนิดพันธุ์ โดยเฉพาะในสายพัน ธุ์ดาวเรืองที่ให้สารแคโรทีนสูงจะมีค่าของสารแซนโทฟีลล์ไม่ต่ำกว่า 18 กรัมต่อกิโลกรัมของกลีบแห้งจึงจะมีผลต่อการให้วิตามินเอ ลักษณะของพันธุ์ดาวเรืองโดยเฉพาะ คือ ดอกสีส้มเข้ม กลีบใหญ่ หนา ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ไม่น้อยกว่า 2.5 นิ้ว จึงจะให้สารเบตาแคโร ทีนและสารแซนโทฟีลล์สูงซึ่งจะแตกต่างจากดอกดาวเรืองพื้นบ้าน และพันธุ์การค้าให้ดอกสีเหลืองที่ให้ประมาณสารต่ำ

 
 

ที่มา : เอกสารเผยแพร่เรื่อง ดาวเรือง ของ ศ.สมเพียร เกษมทรัพย์ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน