มะแขว่น

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Zanthoxylum limonella  (Dennst.) Alston.
วงศ์ :  Rutaceae
ชื่ออื่น :  ลูกระมาศ หมากมาศ (กรุงเทพ) กำจัดต้น พริกหอม (ภาคกลาง) มะแขว่น หมักข่วง (แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะ : ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูง 12-20 เมตร เปลือกสีขาว มีหนามแหลมรูปกรวยปลายตรงหรือโค้งเล็กน้อย ขึ้นตามลำต้น กิ่ง และก้านใบ  ใบ  เป็นใบประกอบเรียงสลับแบบขนนก ใบยาว 15-20 เซนติเมตร ใบย่อย 10-28 ใบ อาจมีใบย่อยที่ปลายหรือไม่มีก็ได้ ก้านใบย่อยสั้น 0.5-1.0 เซนติเมตร ขนาดใบกว้าง 4-5 เซนติเมตร  ยาว 10-14 เซนติเมตร รูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน โคนใบเบี้ยว ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น ปลายใบเรียวแหลม ดอก  เป็นช่อแบบ panicle ออกที่ปลายยอดหรือซอกก้านใบ  ช่อดอกยาว 10-21 เซนติเมตร ก้านช่อยาว ดอกเล็กสีขาวอมเขียวเป็นกระจุกอยู่ตอนปลายช่อ ดอกตัวเมียและดอกตัวผู้อยู่คนละต้น กลีบรองดอก 4 กลีบ กลีบดอก 4 กลีบ เรียงสลับกับเกสรตัวผู้ 4 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน อยู่เหนือเกสรตัวผู้ ภายในมี 1 ช่อง ผล  รุปร่างกลมผลอ่อนสีเขียวเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-0.7 เซนติเมตร รสเผ็ดซ่ามาก เมื่อแก่เปลือกเป็นสีน้ำตาล และแตกอ้าเห็นเมล็ดสีดำเป็นมัน  ออกดอก-ผล ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน
แหล่งที่พบ
: บ้านซำตะเคียน บ้านซำนกเหลือง ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ในเขตภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบ

ประโยชน์ทางสมุนไพร ตำรายาไทยใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ด้านอื่นๆ ใช้ใบเป็นอาหาร ผลแก่และเมล็ด ใช้เป็นเครื่องเทศผสมเครื่องแกงของอาหารพื้นเมืองภาคเหนือ



 

 
 
ข้อมูลจาก :  หนังสือสวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ  โดย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล