PAGE TITLE
 
 
 
กลับหน้าหลัก
บทนำ
การพัฒนาชนบท
การพัฒนาการเกษตร
การพัฒนาแหล่งน้ำ
การพัฒนาและอนุรักษ์ดิน
การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
การพัฒนาชาวเขา
โครงการธนาคารข้าว
โครงการธนาคารโค-กระบือ
โครงการฝนหลวง
หน่วยแพทย์เคลื่อนที่
แก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพ
โครงการศิลปาชีพพิเศษ
กังหันน้ำชัยพัฒนา


     
 

          การดำเนินงานตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมราชวงศ์นั้น  เป็นที่แจ้งชัดในหมู่ประชาชนชาวไทยดีแล้วว่า เป็นการดำเนินงานที่มุ่งพัฒนาและช่วยเหลือพสกนิกรโดยทั่วไป โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา และชั้นวรรณะ โดยเฉพาะผู้ที่ยากไร้ที่ประสบปัญหาต่างๆ อันกระทบถึงสภาพการดำรงชีพของเขา พระราชดำริต่างๆ นี้ได้ก่อให้เกิดโครงการติดตามมา ดังที่เรียกกันว่า "โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปในทุกภูมิภาคของประเทศ ในหลายประเภท หลายสาขา รวมประมาณ ๑,๐๐๐ โครงการ
          ปฐมเหตุแรกเริ่มที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นในการที่จะยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนนั้น อาจพิเคราะห์ได้จากพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เรื่อง "เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิสเซอร์แลนด์" เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๔๘๙  ความตอนหนึ่งว่า
          "...รถแล่นผ่านฝูงคนไปอย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมา ได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆ ว่า " อย่าละทิ้งประชาชน " อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า ถ้าประชาชนไม่ "ทิ้ง" ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ "ละทิ้ง" อย่างไรได้..."
          ต่อมาประมาณ ๒๐ ปี ได้ทรงพบราษฎรผู้นั้น และได้มีพระราชกระแสรับสั่งว่า " นั่นแหละทำให้เรารำลึกถึงหน้าที่ จึงต้องกลับมา"
          ครั้นเมื่อเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันศุกร์ที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า " เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"  ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ชัดเจนตราบจนทุกวันนี้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงยึดถือ "ธรรม" ดังกล่าวเป็นหลักในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจตลอดมา จนเป็นผลให้เกิดความมั่นคงของประเทศ และความอยู่รอดปลอดภัยของประชาชนในด้านต่างๆ เป็นสำคัญ
          เริ่มตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ นิวัติคืนสู่กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ก็ทรงพยายามแก้ไขปัญหาของชาติและประชาชนอยู่ตลอดเวลาควบคู่ไปกับการทรงปฏิบัติพระราชกิจต่างๆ ทั้งในด้านพระราชพิธีและรัฐพิธี ซึ่งมีอยู่ในแต่ละปีอย่างมากมาย และหากจะเริ่มกันจริงๆ แล้ว โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เป็นกิจกรรมการช่วยเหลือประชาชนนั้น ก็ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นต้นมา ในแง่ของการพัฒนาสังคมและการปกครอง เช่น กิจกรรมเกี่ยวกับการจัดทำภาพยนตร์ส่วนพระองค์เพื่อหาทุนสร้างอาคารทางการแพทย์ของโรงพยาบาลต่างๆ กิจกรรมเกี่ยวกับการต่อสู้โรคเรื้อนของสถาบันราชประชาสมาสัย กิจกรรมเกี่ยวกับการป้องกันรักษาโรคโปลิโอ อหิวาตกโรค โครงการจัดตั้งโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน ฯลฯ รวมทั้งกิจกรรมเกี่ยวกับการที่ทรงมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม ๒๔๙๕  ส่วนโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่นหรือพื้นที่ทุรกันดารในชนบทนั้น โครงการที่น่าจะนับได้ว่าเป็นโครงการแรก คือ โครงการสร้างถนนเข้าไปในหมู่บ้านห้วยมงคล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในปี พ.ศ.๒๔๙๕  ในช่วงที่เสด็จแปรพระราชฐาน ณ พระตำหนักไกลกังวล หลังจากนั้น กิจกรรมการพัฒนาตามพระราชดำริในลักษณะของโครงการต่างๆ ก็ได้เกิดขึ้นตามลำดับ
          โครงการเหล่านี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๕ โดยทรงเริ่มศึกษาหาข้อมูลและทดลองปฏิบัติจาพื้นที่จริง ทั้งในพระราชวังสวนจิตรลดา และพื้นที่อื่นๆ อีกตามความเหมาะสม และทรงปฏิบัติด้วยพระองค์เอง ตลอดจนได้ใช้ทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ด้วย ทั้งนี้ เพื่อขยายผลที่ได้รับสู่ราษฎรต่อไป จนต่อมารัฐบาลเห็นว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเหล่านี้ได้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนและเสริมงานปกติของรัฐให้ได้ผลสมบูรณ์และกว้างขวางขึ้น และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น อย่างคุ้มค่าแก่การลงทุน จึงได้รับสนองพระราชดำริโดยการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเป็นพิเศษในการดำเนินงานต่างๆ ตราบจนทุกวันนี้
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า พระราชดำริของพระองค์นั้น เป็นเพียงข้อเสนอแนะเท่านั้น เมื่อรัฐบาลได้ทราบแล้วก็ควรจะไปวิเคราะห์พิจารณา กลั่นกรองตามหลักวิชาก่อน เมื่อมีความเป็นไปได้และมีประโยชน์คุ้มค่าและเห็นสมควรทำ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาตัดสินใจเอง และในกรณีที่วิเคราะห์พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เหมาะสมก็ล้มเลิกไปได้
          ดังนั้น  องค์กรดังกล่าวที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น ซึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" (กปร.) จึงมีหน้าที่ในการวิเคราะห์พิจารณา กลั่นกรอง โดยประสานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในการสนองพระราชดำริต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งติดตามประเมินผลโครงการเหล่านี้ด้วย

 
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
 
 
 

ข้อมูลจากหนังสือ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชกับงานพัฒนา" จัดทำเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐ โดย คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)