PAGE TITLE
 
 
 
กลับหน้าหลัก
บทนำ
การพัฒนาชนบท
การพัฒนาการเกษตร
การพัฒนาแหล่งน้ำ
การพัฒนาและอนุรักษ์ดิน
การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
การพัฒนาชาวเขา
โครงการธนาคารข้าว
โครงการธนาคารโค-กระบือ
โครงการฝนหลวง
หน่วยแพทย์เคลื่อนที่
แก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพ
โครงการศิลปาชีพพิเศษ
กังหันน้ำชัยพัฒนา


                           หน้า  1    2   
 

โครงการธนาคารข้าว

 
 

"...โครงการที่ได้ปฏิบัติมาจนถึงเดี๋ยวนี้ก็ได้ใช้ข้าวเป็นจำนวนมากสำหรับส่งไปสงเคราะห์ในบริเวณชายแดน โดยอาศัยการส่งไปให้แก่เจ้าหน้าที่เพื่อที่จะได้แจกจ่ายแก่ผู้ที่ขาดแคลน นอกจากนี้ก็ได้ปฏิบัติอีกวิธีหนึ่งคือ นอกจากจะไปแจกแก่ผู้ขาดแคลนคือ ได้ไปตั้งเป็นคลัง เป็นฉางข้าวในบางแห่ง คือ บางแห่งมีความขาดแคลนข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีที่แล้วก็มีความเดือดร้อนเพราะว่ามีการขาดน้ำ ทำให้ได้ข้าวไม่ได้ผลเพียงพอ จึงได้ให้ข้าวจำนวนหนึ่งแก่หมู่บ้านและตั้งเป็นฉางข้าว กล่าวคือ ให้ข้าวไว้และก็ถ้าต่อมาเขามีรายได้เพิ่มขึ้นหรือปลูกข้าวได้ก็เอามาคืนโดยมีดอกเบี้ยเพิ่มเติมเข้ามา ข้าวที่ให้ไปจึงเป็นข้าวที่หมุนเวียนและทำให้ประชาชนสามารถที่จะเข้าใจถึงการประหยัดถึงวีธีที่จะร่วมมือกัน มีชีวิตเป็นกลุ่ม..."
พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะกรรมการสโมสรไลออนส์ดุสิต กรุงเทพ ณ พระตำหนักสวนจิตรลดา ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔

 

 
 


ความทั่วไป
         
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผลผลิตข้าวปีละประมาณ ๑๙ ล้านตัน (ข้อมูลในปี ๒๕๓๐) และเพิ่มเป็น ๒๕.๙ ล้านตัน (ข้อมูลในปี ๒๕๔๕)  เป็นประเทศส่งออกข้าวรายใหญ่รายหนึ่งของโลก นับเป็นประเทศที่มีธัญพืชและทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ยิ่งแห่งหนึ่ง แต่ก็ยังมีผู้คนในชนบทจำนวนมาก ภายหลังจากได้เก็บเกี่ยวข้าวในนาของตนไปแล้ว กลับขาดแคลนข้าวที่จะบริโภค หรือใช้ทำพันธุ์ในฤดูเพาะปลูกครั้งต่อไป
          การขาดแคลนข้าวของชาวนาในชนบท เป็นความเดือดร้อนอย่างยิ่ง ครัวเรือนที่ยากจนมักแก้ไขปัญหาโดยวิธีกู้ยืมจากพ่อค้าคนกลาง ซึ่งอาจจะกู้ยืมเป็นข้าวหรือเป็นเงินโดยต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก เฉลี่ยแล้วราวร้อยละ ๓๐-๑๒๐ บาทต่อปี ในบางกรณี ก็ต้องกู้ยืมโดยวิธีการขายข้าวเขียว ซึ่งเป็นผลให้ผู้กู้เสียเปรียบอย่างมาก ทำให้ผลผลิตข้าวที่ได้ไม่เพียงพอสำหรับการบริโภค และการชำระหนี้ ในที่สุดก็กลายเป็นผู้ที่มีหนี้สินพอกพูน ตกอยู่ในสภาพที่ยากจน ล้าหลัง ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ และเป็นที่มาของปัญหาการพัฒนาด้านอื่นๆ ต่อไปอีก
          การที่ประเทศเรามีธัญพืชมากพอที่จะเลี้ยงดูคนทั้งประเทศ แต่ก็ยังมีผู้ที่ไม่มีข้าวพอกินเป็นสองภาพที่ขัดแย้งกันของชนบทไทย ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นด้วยปัจจัยหลากหลายประกอบกัน นับแต่ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินและน้ำ ประสิทธิภาพของการผลิต การควบคุมระบบตลาด กลไกราคา และภาวะการค้าต่างประเทศ แม้ว่ารัฐบาลจะกำหนดนโยบายและวางแผนที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยมาตรการต่างๆ จำนวนมาก แต่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขก็เป็นเรื่องระยะยาวที่มองไม่เห็นผลในทันที
     

แนวพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการธนาคารข้าว
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ สู่ภูมิภาคต่างๆ ในท้องถิ่นชนบทของประเทศอย่างสม่ำเสมอมานับสิบปี ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงเห็นสภาพความยากจน เดือดร้อนและเข้าพระราชหฤทัยอย่างลึกซึ้งแจ่มชัดถึงสาเหตุแห่งปัญหา พระองค์ทรงริเริ่มและพระราชทานแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาในระดับต่างๆ อย่างเหมาะสม ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะให้ประชาชนพึ่งตนเอง ให้พึ่งพึ่งพาอาศัยปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุด ในบางเรื่องทรงเห็นว่าการจัดสรรทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว และในบางกรณีก็ทรงเห็นว่าจำเป็นต้องมีมาตรการแก้ไขความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องข้าว ทรงพยายามทำทุกวิถีทางให้เกษตรกรมีข้าวพอกิน อาจกล่าวได้ว่า "ธนาคารข้าว" เป็นผลมาจากพระปรีชาดังกล่าว เป็นความพยายามด้านหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และเป็นพระราชประสงค์โดยตรงที่จะให้ทางราชการไปช่วยเหลือในการจัดตั้งธนาคารข้าว เพื่อประโยชน์แก่เกษตรกรที่ยากจนโดยทั่วไป อาจกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการก่อรูป "ธนาคารข้าว" ขึ้น และทำให้ธนาคารข้าวกลายเป็นแนวคิดที่แพร่หลาย เป็นนโยบายของรัฐและเป็นแผนงานสำคัญแผนหนึ่งของการพัฒนาชนบทยากจนที่ผ่านมา
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งธนาคารข้าว ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๙ เมื่อครั้งทรงเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ในเขตอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้พระราชทานข้าวเปลือกจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้ใหญ่บ้านหลายหมู่บ้าน เพื่อเป็นทุนเริ่มดำเนินกิจการธนาคารข้าว ได้พระราชทานแนวทางดำเนินงานไว้อย่างละเอียดชัดเจน ดังบันทึกต่อไปนี้

         
"...ให้มีคณะกรรมการควบคุม ที่คัดเลือกจากราษฎรในหมู่บ้าน เป็นผู้เก็บรักษา พิจารณาจำนวนข้าวที่จะให้ยืมและรับคืน ตลอดจนจัดทำบัญชีทำการของธนาคารข้าว ราษฎรที่ต้องการข้าวไปใช้บริโภคในยามจำเป็นให้ลงบัญชียืมข้าวไปใช้จำนวนหนึ่ง เมื่อสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้แล้ว ก็นำมาคืนธนาคาร พร้อมด้วยดอกเบี้ยจำนวนเล็กน้อยตามแต่ตกลงกัน ซึ่งข้าวที่เป็นดอกเบี้ยดังกล่าวก็จะเก็บรวมไว้ในธนาคาร และถือเป็นสมบัติของส่วนรวม สำหรับกรรมการควบคุมข้าวนั้น  มีสิทธิ์ในการขอยืมข้าวเท่ากับราษฎรทุกประการ ต้องอธิบายให้กรรมการและราษฎรเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ถึงหลักการของธนาคารข้าว โดยพยายามชี้แจงอย่างง่ายๆ แต่ต้องให้แน่ใจว่าทุกคนเข้าใจดี กรรมการ และราษฎรก็ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อหลักการ เมื่อยืมข้าวจากธนาคารข้าว ซึ่งเป็นของส่วนรวมไปใช้และถึงกำหนดเวลาสัญญาไว้ ก็ต้องนำข้าวมาคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากว่ามีเหตุสุดวิสัย ซึ่งต้องชี้แจงให้กรรมการพิจารณาข้อเท็จจริง ราษฎรต้องร่วมมือกันสร้างยุ้งที่แข็งแรง ทั้งนี้หากปฏิบัติตามหลักการที่วางไว้ จำนวนข้าวที่หมุนเวียนในธนาคารจะไม่มีวันหมด แต่จะค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นแลจะมีข้าวสำหรับบริโภคไปจนถึงลูกหลาน ในที่สุดธนาคารข้าวก็จะเป็นแหล่งที่รักษาผลประโยชน์ของราษฎรในหมู่บ้าน และเป็นแหล่งอาหารสำรองของหมู่บ้านด้วย..."
                                                                                                                                                             อ่านหน้าต่อไป