HOME   

 
 

 
 
  เฉลิมพระเกียรติ 50 พระชันษา ตามรอยเท้าพ่อ

 
   

 

 
 


 

          เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยและสนพระทัยในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเกี่ยวข้องต่อการดำรงชีพและคุณภาพชีวิตของปะชาชนเป็นอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนของสรรพสิ่งที่ธรรมชาติสร้างไว้ และความหลากหลายของพรรณพืชตลอดจนป่าไม้อันเป็นถิ่นกำเนิด อยู่ในความสนพระทัยของพระองค์มานานแล้ว เมื่อยังทรงพระเยาว์ ทรงโปรดหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยา และเมื่ออ่านแล้วทรงจดจำเรื่องราวได้หมด ระหว่างโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมพสกนิกรทั่วประเทศ ได้ทรงสังเกตศึกษาธรรมชาติและพรรณไม้อยู่เสมอ ทรงใฝ่ในความรู้และวิทยาการใหม่ๆ มีพระปรีชาสามารถในการสังเกตจดจำเรื่องราวสิ่งต่างๆ ที่ทอดพระเนตร พร้อมทรงจดบันทึกโดยละเอียด
          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงงานด้านพฤกษศาสตร์อย่างมุ่งมั่น ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินศึกษาธรรมชาติ พรรณพฤกษชาติและป่าไม้ ณ อุทยานแห่งชาติภูเรือ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 11-13 กุมภาพันธ์ 2534 ต่อมาได้เสด็จพระราชดำเนินไปตามป่าเขาอันทุรกันดารเพื่อทรงศึกษาพรรณพฤกษชาติและป่าไม้อย่างจริงจังในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติทางบก อุทยานแห่งชาติทางทะเล และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร อีกหลายครั้งถึงปัจจุบันพระองค์ทรงเกษมสำราญเป็นพิเศษเมื่อได้ประทับแรมตามป่าเขาทั้ง

 
 

ในเต๊นท์และเรือที่ประทับท่ามกลางธรราชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี (23-24 เมษายน 2536), อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี (14-15 สิงหาคม 2537) , อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย (19 ธันวาคม 2537) , หน่วยจัดการต้นน้ำแม่กก ห้วยหมากเลี่ยม จังหวัดเชียงราย (30 มกราคม 2538), อุทยานแห่งชาติทะเลบัน จังหวัดสตูล (27 กันยายน 2538), อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์-หมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา (11-12 พฤศจิกายน 2539) และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย (19 มิถุนายน 2540) พระองค์ทรงมีรับสั่งกับบรรดาพระสหายและผู้ติดตามอยู่เสมอว่า ทรงโปรดศึกษาพรรณไม้และป่าไม้เพราะต้นไม้ไม่หนีไปไหน ไม่เหมือนกับสัตว์ป่าที่ชอบหลบซ่อนตัว ในการเสด็จป่าบ่อยครั้งจะเห็นพระองค์ทรงพลิกใบไม้ไปมาเพื่อทอดพระเนตรอย่างพินิจพิเคราะห์ ทรงมานะบากบั่นด้วยความยากลำบากตรากตรำพระวรกาย มิได้ทรงย่อท้อต่ออุปสรรคภยันตรายจากสภาพป่าที่รกชัฎ ภูเขาที่สูงลาดชัน โขดหินที่ลื่นตามธารน้ำตกและตัวทาก
          โดยที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นนักอักษรศาสตร์ที่เชี่ยวชาญ ทรงนำความรู้ภาษาละตินมาใช้ในการศึกษาพฤกษศาสตร์จำแนกพวก (systematic botany) ในการเรียกชื่อวิทยาศาสตร์พืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับพระอุปนิสัยที่ช่างสังเกตจดจำสิ่งต่างๆ ที่ทอดพระเนตรได้อย่างแม่นยำ พระองค์จึงทรงเพิ่มพูนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ นอกจากจดบันทึกชื่อพืช ลักษณะ ประโยชน์และโทษของพืช ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินในป่าแล้ว พระองค์จะทรงร่างภาพพรรณไม้ที่น่าสนใจเป็นพิเศษประกอบอีกด้วย นอกจากพระปรีชาสามารถในการจำแนกพรรณพืชแล้ว ยังทรงสนพระทัยและเชี่ยวชาญในพฤกษศาสตร์สาขาอื่นๆ ได้แก่ พฤกษภูมิศาสตร์ (plant geography) พฤกษนิเวศ (plant ecology) พฤกษศาสตร์เศรษฐศาสตร์ (economic botany) และพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน (ethnobotany) ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์ของพระองค์ที่ตีพิมพ์ออกมาเป็นระยะๆ ภายหลังจากการเสด็จพระราชดำเนินป่า และเสด็จทอดพระเนตรหอพรรณไม้และสวนพฤกษศาสตร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ บางตอน เช่น
         
"...บริเวณที่เราเดินกันนี้ มีต้นสนสองใบมากเพราะเป็นเขตหินทราย สนไม่ชอบขึ้นในเขตหินปูน (ภูมิประเทศแบบ Karst ซึ่งจะมีความหลากหลายในพันธุ์หรือ biodiversity สูงกว่า) เข้าใจว่าต้นไม้ดั้งเดิมของป่าดิบจะถูกตัดไปหมดแล้วประมาณกว่าร้อยปี ต้นแปก (สนสองใบ) เป็นไม้ที่ขึ้นทดแทน อายุประมาณ 50-60 ปี ขณะนี้เขาก็ทำไม้แปกกัน แต่ยังมีการปลูกทดแทน ต้นแปกจะเติบโตได้ดีต้องมีการ "รบกวน" คือมีไฟป่าหรือมนุษย์ ถ้าปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ ไม้ป่าดิบคือพวกไม้ใบกว้างจะเจริญเติบโตรุกข้ามา ต้นแปกขยายพันธุ์โดยเมล็ดที่ร่วงลงมา และต้องมีไฟไหม้ พื้นล่างของป่า เมล็ดจึงจะงอกและเติบโต อีกอย่างหนึ่งต้องมีแดด ถ้าไปขึ้นอยู่ใต้ร่มเงาของป่าไม้ดิบก็เติบโตไม่ได้ แต่เจอพืชหลายชนิดที่ไม่เคยพบในไทย เห็นจะมีส่วน microclimate ที่ต่างกัน เช่น เครือหัน  Bauhinia coccinea  เสี้ยวเครือชนิดหนึ่ง ดอกใหญ่สีแดง เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ประดับ ..."  
(จาก "ม่วนชื่นเมืองลาว" ฉบับปกอ่อน เมษายน 2537 หน้า 263)

 
  .............................................................................................................................................  
 

บทความโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ธวัชชัย สันติสุข ราชบัณฑิตประเภทวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาพฤกษศาสตร์ จากหนังสือราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วิทยาศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พฤกษศาสตร์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 24 กรกฏาคม 2540

 
     
 

 กลับสู่หน้าหลัก