การอพยพภัยสึนามิที่สิมิลัน  โดย ทับละมุ

มื่อวันที่ 3-9 เมษายน 2553 ข้าพเจ้าได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับคณะปฏิบัติงานวิทยาการ อพ.สธ. เพื่อสำรวจทรัพยากรทางกายภาพและชีวภาพ ณ เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา เรือเดินทางออกจากท่าเรือฐานทัพเรือพังงา บ้านทับละมุ จังหวัดพังงา ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง ก็ถึงเกาะสิมิลัน

ที่นั่นข้าพเจ้าได้พักอยู่ที่เกาะแปด (สิมิลัน) ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน คณะที่เดินทางส่วนใหญ่พักเต๊นท์ที่ทาง ทร.จัดไว้ให้ และเต๊นท์ที่หน่วยงานนำกันไปเอง ที่นี่มีนักท่องเที่ยวมาพักผ่อนอยู่พอสมควร

จากแผนปฏิบัติงานคณะสำรวจแต่ละคณะมีภารกิจในการสำรวจ 9 เกาะ เรียกอย่างง่ายๆ ว่าเกาะ 1-9 จริงๆ แล้วแต่ละเกาะก็มีขื่อเรียกออกเป็นภาษายาวี ซึ่งก็เรียกยากพอควร

ก่อนออกงานสำรวจได้มีการประชุมสรุปแผนงานและจัดระเบียบในเรื่องต่างๆ ให้เป็นที่เข้าใจ วันรุ่งขึ้นคณะต่างๆ ก็แยกย้ายกันไปปฏิบัติงาน
ข้าพเจ้ามีโอกาสติดตามคณะของ ศาสตราจารย์กาญจนภาศน์ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมงานวิจัยและสำรวจสาหร่ายทะเล โดยในวันแรก ไปที่เกาะ 1- 3 ทุกอย่างก็เรียบร้อยดี ทะเลที่นั่นสวย น้ำใน แต่คลื่นค่อนข้างแรง สาหร่ายที่พบที่เกาะ 1-2 นั้นไม่มากเท่าที่หมู่เกาะอ่างทอง สุราษฎร์ธานี

ในวันต่อมาคณะสำรวจไปที่เกาะ 4-7 เกาะ 4 เป็นเกาะที่มีนักท่องเที่ยวมากกว่าทุกเกาะ และที่นี่เป็นที่ตั้งของศูนย์เตือนภัยสึนามิ แต่ละทีมก็ทำงานกันโดยราบรื่น อุปสรรคอาจมีบ้างเล็กๆ น้อยๆ ก็แก้ปัญหากันลุล่วงไปในแต่ละจุด ที่สิมิลันช่วงนี้อากาศค่อนข้างร้อน ทำงานเหนื่อยแต่ก็สนุก

เรื่องตื่นเต้นสำหรับพวกเราเกิดขึ้นในวันที่ 3 ของการทำงานที่สิมิลัน คือวันที่ 7 เมษายน เช้ามืดประมาณตี 5 ข้าพเจ้าได้ยินเสียงเรียกจากเจ้าหน้าที่ ทร.ผู้หนึ่ง มาบอกว่าให้เตรียมอพยพ ที่ศูนย์เตือนภัยแจ้งว่ามีแผ่นดินไหวที่เกาะสุมตรา ความสั่นสะเทือนวัดได้ประมาณ 7.8 ริกเตอร์ คาดว่าอาจเกิดสึนามิ ให้พวกเราอพยพขึ้นที่สูง

อันที่จริงก่อนหน้านี้ได้ยินเสียงโหวกเหวกๆ มาจากแถวชายหาดที่พวกเราส่วนใหญ่พักกัน แรกทีเดียวคิดว่าเป็นการปลุกตามปกติของครูอ้วน แต่ก็แปลกตรงที่ทำไมดูเหมือนเที่ยวนี้มีคนตะโกนกันเป็นทอดๆ เสียงออกระงม

ความรู้สึกแรกที่ได้รับฟังว่าให้หลบภัยสึนามิ ใจเต้นรัวทีเดียว จะบอกว่าตื่นเต้นก็ว่าได้ เพราะไม่เคยมีประสบการณ์ แต่ความทรงจำและภาพความสูญเสียเกี่ยวกับสึนามิเมื่อ 26 ธันวาคม 2547 นั้นดูยังฝังแน่น แต่ก็พยายามควบคุมความตื่นเต้น เก็บของที่สำคัญและจำเป็น เช่น กระเป๋าเงิน บัตรต่างๆ กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์ ใส่เป้เล็กๆ เพิ่มความกระชับของเครื่องแต่งกาย แล้วก็ออกจากที่พัก มุ่งหน้าขึ้นเขาซึ่งอยู่ข้างที่พักนั่นเอง

ออกไปก็เห็นพวกเราคณะทำงาน หอบสิ่งจำเป็นเดินขึ้นเขากันเป็นทางอย่างรีบเร่ง ขึ้นไปที่สูงประมาณ 50 เมตร ก็พักดูท่าทีกันตรงนั้นตามภาพ สีหน้าแต่ละคนก็ดูตื่นเต้น ทราบว่ามีน้องนักศึกษาบางคนกลัวจนร้องไห้ แต่เชื่อว่าใครที่ยังไม่เคยต้องประสบเหตุการณ์ แม้แค่เป็นการอพยพจากการเตือนภัย โดยที่ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิด ย่อมตื่นเต้นตกใจเป็นธรรมดา เพราะภาพสึนามิบ้านเรายังหลอนติดตา

ในช่วงแรกก็นั่งอยู่ระดับที่ 50 เมตร เวลาผ่านไป ความระทึกใจรวมความหวาดกลัวทำให้ต้องกระเถิบขึ้นสูงไปอีก อยากจะขำนะคะ แต่ตอนนั้นขำไม่ออก เวลาผ่านไปๆ พวกเราก็หาเรื่องพูดคุย มีกระเซ้าเย้าแหย่ให้คลายความกังวลอึดอัด มีเจ้าหน้าที่ ทร.นำกาแฟร้อนๆ มาบริการ

เวลาผ่านไปประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง ก็ได้รับแจ้งยกเลิกการเตือนภัย ลงจากเขาได้ แต่กำหนดการสำรวจก็มีการปรับเปลี่ยนเพื่อป้องกันหากมีอาฟเตอร์ช็อค เรียกว่าครึ่งวันเช้าหมดไปกับการอพยพภัยสึนามิ เริ่มงานกันได้บางกลุ่มที่ไม่ต้องลงทะเล คณะที่ต้องดำน้ำลึกโดนห้ามตลอดวัน

วันสุดท้ายที่เราเดินทางจะกลับกรุงเทพ ได้เข้าไปพักรอในฐานทัพเรือสัตหีบ ก็ได้มีโอกาสถ่ายภาพเรือ ต.215 ที่จมลงในวันเกิดสึนามิ ปี 2547 ทางฐานทัพกู้เอามาโชว์ไว้เป็นที่ระลึกในเหตุการณ์ที่เกิดความเสียหาย ณ ฐานทัพเรือแห่งนี้

ขอจบเรื่องเล่าประสบการณ์หนีภัยสึนามิที่เกาะสิมิลันเพียงเท่านี้ค่ะ.
 
         
         
         
 
 
@ 2007 www.tis-museum.org.. All rights reserved.
This site is best viewed with Microsoft Internet Explorer 6.0+ at a minimum screen resolution of 1024 x 768,
A minimum modem connection speed of 56Kbps. Also required Flash plug-in.