หน้า    2   3    




















 
บันทึกเอื้องดินดอย (Memories of Mountainous Terrestrial Orchids)

โดย ดร.ฉันทนา สุวรรณธาดา
 

               ใครเลยจะคิดว่าการที่คนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง ที่มีวัยวุฒิและคุณวุฒิแตกต่างกัน จะมีศูนย์รวมของ จิตใจอยู่รอบ ๆ ต้นไม้กลุ่มหนึ่ง  ต้นไม้ที่พวกเขาไม่เคย คิดว่าจะมีอิทธิพลต่อจิตใจ  เกิดความสุขและตื่นเต้น เมื่อแรกพบ  อยากนำมาฟูมฟักให้เติบโตและอยู่รอด ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปจากบ้านเกิด   ร่วมจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือได้เก็บรักษาต้นพันธุ์พืชเหล่านั้นไว้ในที่ที่ปลอดภัย ให้รอดจากการเบียดเบียนของคนบางคนบางกลุ่มที่จะฉกฉวยไปใช้ประโยชน์จนไม่เหลือให้เก็บให้รอดและให้ปลอดจากภัยธรรมชาตินานาประการ อันเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าอยู่รอดเพื่อ สักวันหนึ่งจะได้เอื้อประโยชน์ให้แก่มวลชน

               
              
เมื่อปลายปี พ.. 2543 เจ้าหน้าที่และผู้ร่วมงาน ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ปลูกรักษาพันธุกรรมพืช อพ.สธ. ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้พบช่อดอกของพืชเกิดออกมาเป็นกลุ่มจากพื้นดินบริเวณโคนต้นไม้พื้นถิ่น  ก้านช่อยืดตัวยาว  มีดอกสีเขียวปนแดง  กระจายเป็น ระยะๆ ที่ส่วนปลายของช่อ   ช่อดอกเหล่านี้เกิดออกมาจากหัวที่มีลักษณะป้านที่โคนและเรียวไปทางปลาย  มีข้อปล้องเห็นชัดเจน  ลักษณะคล้ายหน่อไม้เกิดขึ้นมา เป็นกลุ่มจากการแตกกอ  ในระยะที่ดอกบานไม่พบว่า ต้นพืชเหล่านี้มีใบ  จึงให้เกิดความสงสัยว่าพืชกอนี้คืออะไร  เหตุใดจึงมาเจริญเติบโต ณ จุดที่ไม่ได้เคยพบว่ามีมาก่อน   เวลาต่อมาได้เรียนรู้ว่าพืชนั้นคือ กล้วยไม้ดิน ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่เรียกกันว่าช้างผสมโขลง โดยที่เป็นชนิด ที่มีชื่อว่า Eulophia graminea Lindl.  เป็นพวกที่ออกดอกก่อนใบ  เมื่อดอกโรยและติดฝักแล้ว ใบจึงเกิดตามมา กล้วยไม้ต้นนี้สร้างความตื่นเต้น ให้แก่คณะปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าวยิ่งนัก ด้วยไม่เคย นึกกัน มาก่อนว่าจะมีกล้วยไม้ดินในพื้นที่ที่ตนคุ้นเคย
 

                จากนั้นการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการจึงเกิด ขึ้นโดยกลุ่มพันธมิตรต่างวัยวุฒิและคุณวุฒิ  ด้วยการเดินสำรวจในพื้นที่ที่เป็นเนินสูงต่ำของป่าเต็งรังซึ่งมีต้นพืชอนุรักษ์ของ อพ.สธ. ปลูกแทรกอยู่กับต้นไม้ป่าดั้งเดิม  อยู่ในพื้นที่ร่วม 250 ไร่   ผลคือพบกล้วยไม้ดิน หรือ เอื้องดินในภาษาถิ่นของพันธมิตรพื้นถิ่นอีก 2 ชนิด เจริญเติบโตอยู่ไม่ไกลกันนัก   โชว์ดอกตามฤดูกาล  ได้แก่ นางอั้วชนิด Habenaria housseusii Schltr.  เพียงไม่กี่ต้น ในพื้นที่โล่งแจ้งระหว่างไม้ใหญ่  และ ชนิดนางตายตัวผู้ (H. lindleyana Steud.) ที่พบว่าอยู่กันเป็นกลุ่มใต้ต้นไม้ ใหญ่
 

                ความสงสัยบังเกิด  ในเมื่อพันธมิตรแรงงานยืนยันว่า  การมีต้นกล้วยไม้ดินบานดอกสวยงามในพื้นที่ที่เขาทั้งหลายคุ้นเคยและตรวจตราอยู่เสมอนั้น เป็น สิ่งที่ไม่ธรรมดา    ผู้อาวุโสจึงสั่งการให้พันธมิตรออกเดินดู กล้วยไม้อิงอาศัยในพื้นที่นั้นบ้าง  พบว่า บนต้นไม้ป่าที่ได้มีกล้วยไม้อิงอาศัยเกาะอยู่และ มีดอกบานอยู่ทุกปี  รวมไปถึงต้นไม้ข้างเคียงซึ่งไม่เคยมีต้นกล้วยไม้เกาะอยู่เลยนั้นได้มีลูกกล้วยไม้หลายขนาด ตั้งแต่ขนาดจิ๋ว ไปจนถึงขนาดค่อนข้างใหญ่กระจายตัว แทรกอยู่ตามเปลือกไม้  มากมายไปหมด  บางตาบ้าง  หนาตาบ้าง  และลูกกล้วยไม้ดังกล่าวเจริญเติบโตพร้อมกับเพิ่มปริมาณมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป  ข้อมูลเหล่านี้แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กับการกระจายพันธุ์ของกล้วยไม้ในพื้นที่ปลูกรักษา อพ.สธ อย่างชัดเจน
 

             การวิเคราะห์หาข้อมูลในเวลาต่อมา เพื่อสนับสนุนให้คลายสงสัย มาหยุดอยู่ที่ความเป็นไปได้ ของการมีปัจจัยที่เหมาะสมซึ่งเอื้ออำนวยต่อการกระจายพันธุ์ของกล้วยไม้ป่าในพื้นที่ปลูกรักษาพันธุกรรมพืช อพ.สธ. โดยที่มีข้อสรุปว่าพื้นที่ปลูกรักษาผืนนี้นั้น แต่เดิมมีสภาพเป็นป่าเต็งรังที่รับน้ำฝน ซึ่งจะแล้งจัดตลอดหน้าแล้ง  แต่ต่อมาพื้นที่ผืนนี้ได้รับการพัฒนาให้เป็นเขตป่าพื้นฟูด้วยระบบชลประทานตามแนวพระราชดำริ  ในรูปแบบของการสร้างฝายต้นน้ำลำธาร เพื่อกระจายความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่  ซึ่งวิธีการดังกล่าว มีผลในการช่วยให้ความอุดมสมบูรณ์และความชุ่มชื้น ของพื้นที่ปลูกรักษาเพิ่มขึ้นตามเวลานานปีที่ผ่านไป  ส่งผลให้สภาพนิเวศน์ของพื้นที่เหมาะสมต่อการเจริญ เติบโต และกระจายพันธุ์ของต้นกล้วยไม้ ที่มีอยู่เดิม   และเอื้อเฟื้อไปถึงการเป็นที่อาศัยอพยพให้แก่ลูก กล้วยไม้ที่เจริญเติบโตจากเมล็ดของกล้วยไม้ชนิดอื่น ๆ ที่ปลิวกระจายมาจากป่าที่อยู่เหนือ ขึ้นไป  ทำให้พบว่ามี ชนิดของกล้วยไม้ที่แปลกไปจากกลุ่มที่เคยพบเห็น อยู่ดั้งเดิม

 
     

หน้า    2   3     

 
      บันทึกโดย : ดร.ฉันทนา สุวรรณธาดา จากหนังสือ จากยอดเขาถึงใต้ทะเล 2 สรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว สู่..ประโยชน์แท้แก่มหาชน  
         
 
 
@ 2007 www.tis-museum.org.. All rights reserved.
This site is best viewed with Microsoft Internet Explorer 6.0+ at a minimum screen resolution of 1024 x 768,
A minimum modem connection speed of 56Kbps. Also required Flash plug-in.