ปะการังกับภาวะโลกร้อน (Corals and Global Warming) โดย ดร.สุชนา ชวนิชย์
 

       ปะการัง (coral) เป็นสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่รวมกลุ่มกันเป็นโคโลน (colony) ในแต่ละโคโลนีนั้นจะมีตัวของปะการังที่เรียกว่า โพลิป (polyp) ซึ่งมีขนาดเล็กประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ลักษณะของแต่ละโพลิป ในกลุ่มของปะการังแข็ง (hard coral) เหล่านี้ จะมีหนวด (tentacle) จำนวน 6 เส้น หรือเป็นทวีคูณของหก หนวดเหล่านี้มีหน้าที่หลักในการจับแพลงก์ตอน เป็นอาหาร

        โดยทั่วไป ปะการังมีสาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae) ซึ่งเป็นสาหร่ายเซลล์เดียวอาศัย อยู่ร่วมกันภายในเนื้อเยื่อของปะการัง สาหร่ายซูแซนเทลลีให้พลังงานที่เป็นผลจากการสังเคราะห์แสงแก่ปะการังที่ใช้เป็นที่อาศัย อีกทั้งให้สีสันที่หลากหลายกับปะการังด้วย ดังนั้นหากปะการังเหล่านี้ไม่มีสาหร่ายซูแซนเทลลีแล้ว ปะการังจะได้รับพลังงานไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และปะการังก็จะมีแต่สีขาว ซึ่งเป็นสีของโครงร่างหินปูนที่เป็นแคลเซียมคาร์บอเนตเท่านั้น สีสันของโลกใต้น้ำบริเวณแนว ปะการังก็คงไม่งดงามเหมือนที่เห็นเช่นปัจจุบัน

          ปะการังฟอกขาว
          ปะการังเปรียบเสมือนบ้านของสาหร่ายซูแซนเทลลี ดังนั้นเมื่อสภาพแวดล้อมภายนอก ของบ้านหรือปัจจัยทางกายภาพของสภาพแวดล้อมที่ปะการังอาศัยอยู่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมจนไม่ เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต เช่น การที่อุณหภูมิของน้ำ หรือระดับความเค็มของน้ำสูงขึ้นหรือต่ำลงกว่าสภาวะปกติ ส่งผลให้สาหร่ายซูแซนเทลลีไม่สามารถอาศัยอยู่ใน ปะการังได้อีกต่อไป จึงจำเป็นต้องออกมาจากเนื้อเยื่อของปะการังเข้าสู่มวลน้ำเพื่อหาบ้านใหม่ที่ให้ตนเองสามารถเข้าไปอาศัยและดำรงชีวิตต่อไปได้ ปะการังที่ปราศจากสาหร่ายเหล่านี้ก็ไม่มีโอกาสได้รับพลังงานเสริมที่เพียงพอในการดำรงชีวิต หากสถานการณ์ดำรงเช่นนี้ต่อไป ปะการังก็จะตายในที่สุด เมื่อสาหร่ายซูแซนเทลลีซึ่งเป็นสีสันของปะการัง ออกจากตัวปะการังไปแล้ว ปะการังก็จะกลับคืนมาเป็นสีขาว ซึ่งคือสีของปะการังเอง ดังนั้นปรากฏการณ์ที่ทำให้สาหร่ายซูแซนเทลลีออกจากปะการัง จึงเรียกว่า ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว (coral bleaching) ทั้งนี้ ปะการังที่เกิดการฟอกขาวก็สามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้ หากสาหร่ายซูแซนเทลลีเหล่านั้นกลับเข้าสู่ตัวปะการังอีก ซึ่งเกิดขึ้นได้เมื่อปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงกลับคืนสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม หากการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นวงกว้างและระยะ วลายาวต่อเนื่อง การฟื้นตัวของปะการังโดยธรรมชาติมีโอกาสเป็นไปได้ต่ำ หรือไม่มีเลย โดยทั่วไปปะการัแข็งสามารถดำรงชีวิตโดยปราศจากสาหร่ายซูแซนทลลีได้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ดังนั้น หากสาหร่าย ซูแซนเทลลีไม่กลับเข้าสู่ปะการังในช่วงเวลาดังกล่าว ปะการังเหล่านั้นก็จะตายในที่สุด

        ปรากฏการณ์ปะการังสีทอง
     ปรากฏการณ์ปะการังสีทอง ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายนถึงปลายเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2549 และกำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ณ ชายฝั่งทะเล ค่ายเจษฎามหาราชเจ้า ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จัดเป็นปรากฏการณ์หนึ่งของการเกิดปะการังฟอกขาว โดยปกติแล้ว ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่มีน้ำลงสูงสุดในตอนกลางวัน ทำให้พื้นที่ตื้นชายฝั่งได้รับอิทธิพลจากแสงแดดเต็มที่อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น อย่างชัดเจน ประกอบกับอิทธิพลของปรากฏการณ์ ลาณีญ่าที่เกิดฝนตกหนักเป็นบางช่วงอย่างต่อเนื่อง น้ำฝนนั้นทำให้ระดับความเค็มของน้ำทะเลลดต่ำลง นอกจากนั้น การชะล้างตะกอนหรือของเสียจากฝั่ง โดยฝนที่ตกลงมาและการระบายน้ำใช้สู่ท่อระบายน้ำที่ ปล่อยลงในบริเวณใกล้เคียง จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ทำให้เกิดสภาวะที่ไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ดังกล่าว

       บริเวณชายฝั่งค่ายเจษฎามหาราชเจ้า มีปะการังอ่อน (soft coral) ชนิดหนึ่งเรียกว่า ปะการังอ่อนดอกเห็ด หรือปะการังอ่อนทองหยิบ หรือ Sarcophyton จำนวนมากอาศัยอยู่ ซึ่งปะการังอ่อน Sarcophyton นี้ สามารถพบกระจายทั่วไป ปะการังอ่อนแตกต่างกับ ปะการังแข็งตรงที่ปะการังอ่อนจะไม่มีการสร้างโครง ร่างหินปูนที่เป็นโครงสร้างแข็งขึ้นห่อหุ้มตัวภายนอก หากแต่ฝังโครงร่างแข็งนี้ภายในเนื้อเยื่อเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง และมีหนวดที่ใช้ในการจับอาหาร 8 เส้น หรือทวีคูณของแปด ทั้งนี้ปะการังอ่อนยังแบ่งออกเป็นกลุ่มที่มีและไม่มีสาหร่ายซูแซนเทลลีร่วมอาศัยด้วย โดยปะการังอ่อน Sarcophyton จัดอยู่ในกลุ่มที่มีสาหร่ายซูแซนเทลลี ดังนั้น เมื่อปัจจัยแวดล้อมภายนอกไม่ปกติ สาหร่ายซูแซนเทลลีนี้จึงออกจากตัวปะการังอ่อนไป ทำให้สีเนื้อเยื่อของโคโลนีปะการังอ่อนปรากฏขึ้น สีที่พบเห็นทั่วไปมีทั้งสีน้ำตาล เขียว เหลือง จนถึงครีม ดังนั้นเมื่อน้ำทะเลลดต่ำลง ผิวน้ำทะเลสะท้อนแสงอาทิตย์อย่างเต็มที่ ประกายสีเหลืองทองอร่ามของปะการัง Sarcophyton ที่เกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวจึงเด่นชัดมากขึ้น โดยปกติ ปะการังอ่อน สามารถดำรงชีวิตโดยปราศจากสาหร่ายซูแซนเทลลีได้ 2-3 เดือน หรืออาจถึง 6 เดือน ซึ่งนานกว่าปะการังแข็ง มาก เนื่องจากปะการังอ่อนนี้สามารถปรับตัวโดยการ แบ่งหรือแยกตัวออกให้มีขนาดเล็กลง เพื่อลดการใช้ พลังงานส่วนหนึ่งส่วนใดสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ยาวนานที่สุด

       ผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อปะการัง
       ภาวะโลกร้อน (global warming) หมายถึง การที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจาก ปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะ ปัจจัยที่เกิดจาก ภาวะ เรือนกระจก (green house effect) ตั้งแต่ศตวรรษที่ผ่านมา มนุษย์ได้หันไปพึ่งพาการเผาผลาญเชื้อเพลิงที่ได้มาจากฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ เพื่อผลิตพลังงานในกระบวนการการเผาผลาญ เชื้อเพลิงดังกล่าวมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้นจำนวนมาก ก๊าซนี้เมื่อถูกปล่อยออกไปแล้วจะถูกสะสม อยู่ที่ชั้นบรรยากาศ และคอยกันความร้อนต่าง ๆ ที่ถูกปล่อยออกจากพื้นผิวโลกไม่ให้ความร้อนสามารถ ระบายออกสู่นอกชั้นบรรยากาศได้ จึงเรียกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ว่าเป็นก๊าซเรือนกระจก และเรียกภาวะที่เกิดขึ้นว่าภาวะเรือนกระจก ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้นตามมา

       จากการวิจัยมีการคาดการณ์ว่า ผลของภาวะโลกร้อนอย่างต่อเนื่องนี้สามารถส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 90 เซนติเมตรในหนึ่งร้อยปีข้างหน้า ระดับที่เพิ่มขึ้นของน้ำทะเลนี้ ทำให้หลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ได้รับผลกระทบทั้งทางด้านกายภาพและชีวภาพหลายประการ การเกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวก็เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนด้วยเช่นกัน การที่ปะการังเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำ ดังนี้ อุณหภูมิของน้ำที่สูงขึ้นเพียง 2-3 องศาเซลเซียส สามารถส่งผลต่อการตายของปะการังได้ นอกจากนั้นยังมีผลต่อการสะสมหินปูนของปะการังลดลงเนื่องจากในสภาวะปกติ ทะเลสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศได้ประมาณหนึ่งในสามของปริมาณทั้งหมดที่สะสม เมื่อปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยน้ำทะเลจึงเพิ่มมากขึ้นตามสัดส่วน และส่งผลต่อการลดลงของสารคาร์บอเนตไอออนที่เป็นส่วน ประกอบสำคัญในการ สร้างโครงร่างหินปูนของปะการัง รวมถึงสัตว์ทะเลอีกหลายชนิด  อีกประการหนึ่ง การที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเนื่องจากภาวะโลกร้อน ส่งผลให้แนวปะการังอยู่ในระดับน้ำทะเลที่ลึกมากขึ้น จึงทำให้ปริมาณแสงอาทิตย์ส่องลงไปถึงปะการังได้น้อยลง และทำให้สาหร่ายซูแซนเทลลีซึ่งใช้แสงในการสังเคราะห์แสง ได้รับแสงลดน้อยลง เมื่อใดก็ตาม ที่ไม่มีแสงหรือมีแต่ไม่เพียงพอที่จะทำให้สาหร่ายซูแซนเทลลีดำรง ชีวิตอยู่ได้ ปะการังที่พึ่งพาอาศัยสาหร่ายซูแซนเทลลีก็ไม่สามารถดำรงชีวิตได้เช่นกัน ซึ่งรวมถึงสิ่งมีชีวิตอีกมากมายที่อาศัยแนวปะการังนั้น ๆ ในการดำรงชีวิต

       นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อนสามารถส่งผลต่อการหมุนเวียนของน้ำทะเล (ocean circulation) ลดลง หรือหยุด ปกติน้ำทะเลจะไม่เกิดเป็นชั้นน้ำที่อุ่น หรือเย็นแบ่งแยกกันถ้าน้ำบริเวณนั้นมีการหมุนเวียน แต่เมื่อใดก็ตามที่การหมุนเวียนของน้ำหยุด จะทำให้น้ำแบ่งชั้น สัตว์ที่อยู่บริเวณนั้น เช่นปะการังก็จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากสภาพน้ำบริเวณนั้นมีอุณหภูมิที่สูง หรือต่ำเกินไปคงอยู่เป็นเวลานาน

          อนาคตของปะการังเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน
          ปะการังเป็นสิ่งมีชีวิตที่เก่าแก่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏอยู่บนโลกมานานกว่า 200 ล้านปี  ปัจจุบันแนว ปะการังได้ลดลงไปอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต  สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปะการังถูกทำลายและลดจำนวนลงอย่างมาก เนื่องมาจากกิจกรรมที่เป็นผลจากการกระทำ ของมนุษย์ เช่น การทำประมงที่มากเกินไป การท่องเที่ยว เป็นต้น นอกจากนั้นภาวะโลกร้อนก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าร้อยละ 70 ของปะการังจะตายภายใน 40 ปีข้างหน้า หากพวกเรา ไม่ช่วยกันป้องกันหรืออนุรักษ์ปะการัง การให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและผลกระทบที่ตามมาก็เป็นอีกวิธีการหนึ่ง ที่สามารถสร้างความเข้าใจให้ประชาชนร่วมกันปกป้องรักษาปะการังได้ ผลกระทบที่ตามมาเหล่านี้ สุดท้ายอาจสะท้อนกลับมาสู่มนุษย์เราผู้เริ่มต้นของ ปัญหาต่าง ๆ นั่นเอง  เมื่อปะการังได้รับผลกระทบ สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ หลากหลายที่อาศัยแนวปะการังเป็น ที่อยู่อาศัยเป็นแหล่งหาอาหาร หรือเป็นแหล่งหลบภัย ก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ รวมทั้งสัตว์เศรษฐกิจอีกมากมายที่มนุษย์เราใช้ประโยชน์ ที่อาศัยอยู่ในแนวปะการัง ก็จะลดน้อยลง อีกทั้งสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมาย ก็จะสูญหายไปด้วย หากมนุษย์เราไม่คำนึงกันตั้งแต่บัดนี้ วันที่เราไม่อยากเห็นก็อาจปรากฏได้เร็วมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 
     

 

 
      เรียบเรียงโดย ดร.สุชนา ชวนิชย์ ภาวิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , หนังสือจากยอดเขาถึงใต้ทะเล 2 สรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว สู่..ประโยชน์แท้แก่มหาชน, ตุลาคม 2550  
         
 
 
@ 2007 www.tis-museum.org.. All rights reserved.
This site is best viewed with Microsoft Internet Explorer 6.0+ at a minimum screen resolution of 1024 x 768,
A minimum modem connection speed of 56Kbps. Also required Flash plug-in.