ความสนใจหลักของทหารเรือ อันเนื่องมาจากธรรมชาติของงานและหน้าที่ราชการ ก็คงจะได้แก่ ท้องทะเลทั้งเหนือและใต้ผิวน้ำ ขอบฝั่ง โขดหินที่ตื้น รวมทั้งเกาะแก่งน้อยใหญ่ทั้งหลายทั้งปวง ความสนใจดังกล่าว หากมองอย่างผิวเผินอาจคิดได้ว่า เป็นความสนใจอยู่ในขอบเขตค่อนข้างจำกัด แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้น
          ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เลือกอาชีพรับราชการเป็นทหารเรือ โดยนับเริ่มเมื่อเป็นนักเรียนนายเรือนั้น ข้าพเจ้าได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของทะเลที่เล็กน้อยและเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จนประจักษ์ในที่สุดว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้และเห็นว่ามีความมหัศจรรย์และน่าทึ่งทั้งหลาย ยังเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น  มนุษย์ยังต้องเรียนรู้อีกมากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทะเลเอง หรือเรื่องของชายฝั่งและเกาะแก่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของพันธุกรรมในสาขาต่างๆ เพราะทำเลเป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งมีชีวิต
          การที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริที่จะให้การศึกษาสำรวจและอนุรักษ์พันธุกรรมพืชบนเกาะต่างๆ ในทะเลไทย รวมทั้งดำเนินการจัดการให้เกาะเป็นแหล่งในการสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ด้วยวิธีการทางธรรมชาตินั้น ประจักษ์ชัดว่า พระองค์ทรงเล็งเห็นการณ์ไกลทั้งทางด้านการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ และการอนุรักษ์เกี่ยวกับทะเล และนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณสำหรับชาวไทยทั้งหลาย ซึ่งมีทะเลเป็นสมบัติของชาติอย่างแท้จริง กองทัพเรือจึงได้รับสนองพระราชดำรินี้ โดยดำเนินการร่วมกับสำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และคณะปฏิบัติงานวิทยาการโดยการรวมตัวของนักวิชาการหลายสถาบัน ทำการสำรวจเกาะแสมสารและเกาะข้างเคียง นับแต่ยอดเขาถึงชายฝั่ง เพื่อรวบรวมข้อมูลของระบบนิเวศเกาะ สำหรับการดำเนินเพื่อให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามโครงการฯ ที่สมบูรณ์ของประเทศไทย ผลการปฏิบัติงานบนเกาะนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการฯ ในพฤษภาคม 2541 จนบัดนี้เป็นเวลา 4 เดือน ก็ได้รุดหน้าไปอย่างรวดเร็วจนสามารถมองเห็นลักษณะของโครงการฯ ในภาพรวมได้บ้างแล้ว โดยงานของคณะปฏิบัติงานวิทยาการ สามารถจำแนกันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ดิน หินแร่ ฯลฯ ที่อยู่บริเวณนี้ได้บางส่วน ตามข้อมูลพันธุกรรมพืชที่ได้รวบรวมนำเสนอในหนังสือ "หมู่เกาะแสมสาร ป่าไม้และพรรณพฤกษชาติ " ฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่ายังเป็นเพียงขั้นต้นเท่านั้น กองทัพเรือและหน่วยงานดงกล่าวข้างต้นยังต้องประสานงาน และร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตลอดจนขยายโครงการฯ ไปตามเกาะต่างๆ ทั้งทะเลอาณาจักรของไทย เพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมพืชไว้สำหรับอนุชนรุ่นหลังสืบไป

                                                                                                 พลเรือเอกสุวัชชัย เกษมศุข
                                                                                                      ผู้บัญชาการทหารเรือ
                                                                       ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
                                                                                         อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ กองทัพเรือ
                                                                                                           กันยายน  2541