กรายดำ
Hopea oblongifolia Dyer var. grandis C.E.C. Fisch., DIPTEROCARPACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงถึง 25 ม. เปลือกชั้นนอกสีเทาคล้ำ ล่อนเป็นแผ่น เปลือกชั้นในเป็นเส้น สีชมพู เนื้อไม้ขาว แก่นสีน้ำตาลแดง ยอดอ่อนและกิ่งอ่อนมีขนเล็กน้อย แต่ขนจะร่วงไปเมื่อกิ่งแก่ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง 6-10 ซม. ยาว 15-30 ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนและเฉียง เส้นแขนงใบข้างละประมาณ 10 เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว 1.5-2 ซม. ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ยาว 10-15 ซม. ดอกสีชมพู เส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 1.3 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ ปลายมน ยาวประมาณ 5 มม. มีขนสีขาวคล้ายเส้นไหมเล็กน้อย กลีบดอกมีจำนวนเท่ากับกลีบเลี้ยง เรียงซ้อนเวียนกันคล้ายกังหัน รูปขอบขนาน โค้งเล็กน้อย ยาวประมาณ 1.2 ซม. มีขนสีขาวคล้ายเส้นไหม เกสรเพศผู้ 15 อัน รังไข่มีขนเล็กน้อย ผลกลมรี ปลายแหลม กว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 1.5 ซม. ผิวแข็ง มีปีกซึ่งเกิดจากการพัฒนาของกลีบเลี้ยง 5 ปีก ซึ่งมีขนาดไม่เท่ากัน ปีกสั้น 3 ปีก มีความยาวประมาณ 3 ใน 4 ของความยาวผลและหุ้มตัวผล ปีกยาว 2 ปีก กว้างประมาณ 2 ซม. ยาว 10-12 ซม.


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : พม่าตอนใต้


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ภาคใต้


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นในป่าดิบ บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 50-300 ม.


เวลาออกดอก : เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์


เวลาออกผล : ผลแก่ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.