กระบากดำ
Shorea farinosa C.E.C. Fisch., DIPTEROCARPACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 20-50 ม. ลำต้นเปลา เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ เปลือกสีน้ำตาลแก่ แตกเป็นร่องตามยาวของลำต้น เปลือกในสีเหลือง กิ่งอ่อนมีขนทั่วไป กิ่งแก่เกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง 3.5-7 ซม. ยาว 8-16 ซม. โคนและปลายมน ขอบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ 11-18 เส้น ปลายเส้นจรดกันก่อนถึงขอบใบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน เส้นกลางใบเป็นร่องและมีขนละเอียด ส่วนด้านล่างเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบนูนเห็นเด่นชัด ตามเส้นแขนงใบและเส้นใบมีนวล ตรงมุมระหว่างเส้นแขนงใบกับเส้นกลางใบมีขนเป็นกระจุกเล็กๆ (domatia) เส้นใบย่อยสานกันเป็นร่างแหละเอียดเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว 2-3.5 ซม. ผิวก้านใบย่นเล็กน้อย หูใบรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีเหลือง กลิ่นหอม ออกด้านเดียวและเรียงห่างๆ กัน ระยะที่ออกดอกใบมักร่วงทำให้ช่อดอกคล้ายช่อแบบกระจาย ก้านดอกสั้นมากหรือไม่มีก้าน ต่อมาก้านดอกอาจยาวขึ้นบ้าง แต่ส่วนใหญ่มักจะสั้น กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่แกมรูปหัวใจ ยาว 6-7 มม. โคนกลีบติดกัน กลีบชั้นนอก 2 กลีบ โคนกลีบขนาดไม่เท่ากัน ปลายกลีบมน กลีบชั้นใน 3 กลีบ ปลายกลีบแหลม ด้านนอกมีขนรูปดาว นุ่มหนาคล้ายกำมะหยี่ ด้านในมีขนเช่นเดียวกัน ยกเว้นส่วนโคนเกลี้ยง กลีบดอก 5 กลีบ เรียงซ้อนเวียนกันคล้ายกังหัน รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ 7 มม. ยาว 1.2-1.3 ซม. ค่อนข้างกว้าง ด้านซ้ายและด้านขวาไม่เท่ากัน ปลายกลีบมน ส่วนที่กว้างที่สุดของกลีบดอกมีเส้นประมาณ 15 เส้น เมื่อดอกยังตูมอยู่ส่วนของกลีบดอกที่อยู่ด้านนอกมีขนยาวสีขาวคล้ายไหม ขอบกลีบมีขน ส่วนอื่นของกลีบดอกเกลี้ยง เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ยาว 6-7 มม. ก้านชูอับเรณูแบน โคนก้านแผ่กว้างเป็นรูปไข่ ปลายก้านเรียวเล็กเหมือนเส้นด้าย เกสรเพศเมีย 1 อัน ยาวประมาณ 6 มม. รังไข่รูปรีมีขนละเอียด ก้านเกสรเพศเมียยาวไล่เลี่ยกับรังไข่ ยอดเกสรเพศเมียมี 3 หยัก ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 1.5 ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม มีปีกซึ่งเจริญมาจากกลีบเลี้ยงเป็นปีกยาว 3 ปีก ปีกสั้น 2 ปีก ปีกไม่เชื่อมติดกับตัวผล ปีกยาวรูปขอบขนาน กว้าง 1.5-2.5 ซม. ยาว 8-11 ซม. โคนปีกคอด ปลายปีกมน มีเส้นปีก 11-13 เส้น เรียงขนานกันตามยาว และมีเส้นเชื่อมติดกันตามขวาง ผลและปีกเมื่อแก่สีน้ำตาล


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : พม่าตอนใต้และมาเลเซีย


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นตามป่าดิบ


เวลาออกดอก : เดือนมกราคม-มีนาคม


เวลาออกผล : เดือนกุมภาพันธ์


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.