พญารากหล่อ
Leea macrophylla Roxb. ex Hornem., LEEACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม สูง 1-2 ม. มีเหง้าอวบ มีขนละเอียดสั้นสีขาวอยู่ทั่วไป กิ่งไม่แตกแขนง เจริญจากส่วนยอด ใบเดี่ยวหรืออาจเป็นใบประกอบ เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยม กว้าง 50-90 ซม. ยาว 0.5-1 ม. ปลายแหลม โคนรูปหัวใจ ขอบหยักซี่ฟันหรือจักฟันเลื่อย และมักเป็นหยักซี่ฟันซ้อนหรือจักฟันเลื่อยซ้อน บางใบขอบใบตอนใกล้โคนใบเว้าลึกมาก แผ่นใบเป็น 3 แฉกใหญ่ ด้านบนสีเขียวเข้มกว่าและมีขนน้อยกว่าด้านล่าง มีต่อมเป็นขีดสั้นๆ เส้นแขนงใบข้างละ 10-15 เส้น คู่แรกออกที่โคนเส้นกลางใบ ก้านใบยาว 10-25 ซม. โคนก้านใบที่ปลายกิ่งมีหูใบใหญ่ค่อนข้างแบน 2 อัน หุ้มยอดอ่อนไว้ หูใบรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง 1-4 ซม. ยาว 2-6 ซม. ขอบด้านข้างประกบติดกันและมีช่องเปิดด้านบน หูใบเมื่อแก่จัดหลุดเป็นห่วงคล้องรอบโคนกิ่ง รอยแผลหูใบรูปสามเหลี่ยม ยาว 5-10 ซม. ช่อดอกออกตามง่ามใบและปลายยอดเป็นช่อใหญ่ ยาว 40-50 ซม. ดอกเล็ก มีจำนวนมาก สีขาวอมเขียวหรือเขียวอ่อน โคนช่อดอกและช่อดอกย่อยมีใบประดับรูปสามเหลี่ยม เล็กมาก ร่วงง่าย กลีบเลี้ยงโคนติดกันคล้ายถ้วยยาว 2-4 มม. ขอบหยักรูปสามเหลี่ยมปลายมน 5 หยัก มีขน กลีบดอกสีขาวอมเขียว โคนติดกันเป็นหลอดยาว 1-3 มม. ปลายแยก 5 กลีบ รูปขอบขนาน กว้าง 1-2 มม. ยาว 2-4 มม. ปลายกลีบแหลม เกสรเพศผู้ 5 อัน สีขาว ตอนล่างติดกันเป็นหลอดยาว 1-2 มม. ปลายหลอดหยักเว้ารูปสามเหลี่ยม ก้านชูอับเรณูยาว 1-2 มม. เรียงสลับกับหยักปากหลอดเกสรเพศผู้ ปลายก้านชูอับเรณูโค้งพับอับเรณูเข้าในหลอด รังไข่เล็กมาก ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียค่อนข้างแบน ผลกลมแบน เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-1.2 ซม. มี 3-6 เมล็ด เมล็ดค่อนข้างกลม ขนาด 3-4 มม.


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : อินเดีย พม่า และภูมิภาคอินโดจีน


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ภาคเหนือและภาคกลาง


สภาพนิเวศน์ : พบตามป่าเบญจพรรณ บนพื้นที่ระดับต่ำจนถึงสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 600 ม.


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.