กระดูกอึ่ง
Dendrolobium triangulare (Retz.) Schindl., LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม สูง 0.5-2 ม. แตกกิ่งมาก กิ่งอ่อน ก้านใบประกอบ และก้านช่อดอกมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมและมีขนยาวสีขาวเป็นมัน ใบประกอบแบบขนนกมีใบย่อยสามใบ เรียงสลับ ก้านใบประกอบยาว 2-6 ซม. หูใบบาง โปร่งแสง กว้าง 3-5 มม. ยาว 0.8-2 ซม. ปลายเรียวแหลม มีขนอ่อนนุ่มสั้นๆ ใบย่อยรูปรีแคบขนาดไล่เลี่ยกันแต่ใบกลางใหญ่กว่าเล็กน้อย กว้าง 1.5-5 ซม. ยาว 5-10 ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ แผ่นใบบาง ด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ด้านล่างมีขนยาวสีขาวเป็นมัน เส้นแขนงใบข้างละ 10-15 เส้น ก้านใบย่อยกลางยาว 0.5-1.5 ซม. ก้านใบย่อยที่เหลือสั้นมาก ช่อดอกสั้น ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกรูปดอกถั่ว กลีบเลี้ยง 4 กลีบ โคนติดกันเป็นหลอดสั้นๆ ปลายแยกจากกัน ยาว 8-9 มม. มีขนยาวสีขาวเป็นมัน กลีบดอก 5 กลีบ สีขาวถึงเหลืองอ่อน กลีบกลางค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.5 ซม. ปลายกลีบแผ่กว้างและหยักเว้า ขนาดใหญ่กว่ากลีบที่เหลือทั้งหมด เกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นแผ่น ฝักแบน กว้างประมาณ 5 มม. ยาว 2-3 ซม. เป็นข้อระหว่างเมล็ด มี 3-5 ข้อ เมื่อแห้งแต่ละข้อจะหลุดออกจากกัน มีขนยาวสีขาวเป็นมัน เมล็ดเล็ก สีน้ำตาล รูปไต


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นในที่โล่งในป่าเบญจพรรณ บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 100-600 ม.


เวลาออกดอก : เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม


เวลาออกผล : เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.