กระทุ่มหูกวาง
Neonauclea sessilifolia (Roxb.) Merr., RUBIACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 5-8 ม. ลำต้นค่อนข้างเปลา เปลือกนอกสีน้ำตาลอมเทา เรียบหรือแตกล่อนเป็นสะเก็ดบ้าง เปลือกในสีแดงเรื่อๆ เรือนยอดแผ่กว้าง ค่อนข้างทึบ ปลายกิ่งมักลู่ลงเล็กน้อย กิ่งอ่อนเกลี้ยง ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปไข่ กว้าง 7-13 ซม. ยาว 8-22 ซม. ปลายและโคนมน ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนา ด้านล่างสีจางกว่าด้านบน เส้นกลางใบ และเส้นแขนงใบเห็นได้ชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ 4-8 เส้น ปลายเส้นจรดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบแต่เห็นไม่ค่อยชัด ก้านใบสั้นมาก หูใบระหว่างก้านใบ 1 คู่ ประกบกัน ร่วงง่าย เหลือเฉพาะที่ยอด รูปไข่หรือรูปลิ้น กว้างประมาณ 7 มม. ยาวประมาณ 1.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่นออกตามปลายกิ่งเป็นช่อเดี่ยวหรืออาจมีถึง 3 ช่อ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกเล็กๆ เป็นกระจุกแน่น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. ก้านช่อดอกยาว 2-2.5 ซม. ดอกเล็ก สีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม กลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอดหรือกรวยเล็กๆ ปลายแยกเป็น 5 แฉกเห็นได้ชัด กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก เกสรเพศผู้ 5-6 อัน ก้านเกสรเพศเมียยาวยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ผลสีเหลือง รวมอัดกันกลม เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 3 ซม. เมล็ดคล้ายรูปรี สอบแคบมาทางโคน มีปีกบางๆ


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ทั่วทุกภาค


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 50-300 ม.


เวลาออกดอก : เดือนสิงหาคม-ธันวาคม


เวลาออกผล : เดือนสิงหาคม-ธันวาคม


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.