"ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาและทดลองทำนามาบ้าง
และทราบดีว่าการทำนานั้นมีความยากลำบากเป็นอุปสรรคอยู่ไม่ใช่น้อย
จำเป็นต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดี และต้องใช้วิชาการต่างๆ
ด้วย จึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน
อีกประการหนึ่งที่นานั้น เมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้ว
ควรจะปลูกพืชอื่นๆ บาง เพราะจะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่น้อย
ทั้งจะช่วยให้ดินร่วน
ช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืชทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้น
เหมาะสำหรับจะทำนาในฤดูต่อไป"
ข้อความข้างต้นเป็นพระราชดำรัส
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
พระราชทานแก่กลุ่มผู้นำชาวนา แสดงถึงความสนพระทัยที่ทรงมีต่อพสกนิกรอันเป็นชาวนาชาวไร่โดยตรง
ตามโบราณราชประเพณี
ซึ่งพระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็นเกษตรบดี
ทรงมีพระราชกิจในการสนับสนุนขวัญและกำลังใจแก่ชาวประชาราษฎร
ในปีพุทธศักราช 2503
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ฟื้นฟูราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
และปรับปรุงพิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัย เพื่อความเป็นศิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกร
ถือฤกษ์ยามเหมาะสมต้องตามประเพณี
รวมทั้งทำให้ชาวต่างประเทศได้เห็นขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของคนไทยด้วย
ความมุ่งหมายของพิธีแรกนา
อยู่ที่จะทำให้เป็นตัวอย่างแก่เกษตรกร
ชักนำให้มีความมั่นใจในการทำนา
แม้จะเป็นความจำเป็นสำหรับบ้านเมืองในสมัยโบราณอย่างไร
ถึงในปัจจุบันก็คงเป็นอยู่อย่างนั้น
งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเปรียบเหมือนพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นองค์ประมุขของประเทศได้ทรงมีพระมหากรุณาต่อชาวนาไทย
ผู้เปรียบประดุจดังกระดูกสันหลังของชาติ
การที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงมีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านเกษตร
ถือเป็นการบำรุงขวัญและเป็นกำลังใจแก่เกษตรกรทั่วกัน
เป็นต้นเหตุแห่งความตั้งมั่นและความเจริญไพบูลย์ทั้งปวง
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แยกเป็น 2 พิธี
คือ พระราชพิธีพืชมงคลเป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ
เช่น ข้าวเหนียว ข้าวเปลือก ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่ว งา
เผือก มัน และพืชอื่นๆ เพื่อให้พืชเหล่านั้นเจริญงอกงาม
ปราศจาคโรค โดยจะประกอบพระราชพิธี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ส่วนพระราชพิธีแรกนาขวัญ
เป็นพระราชพิธีแรกไถก่อนที่ชาวนาจะทำพิธีแรกนามในนาของตนเอง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จะเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีนี้สืบต่อกันมาทุกปี
ปีพุทธศักราช 2504
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมการข้าว (เดิม)
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำพันธุ์ข้าวต่างๆ
มาปลูกทดลองในบริเวณสวนจิตรลดา
โดยในปีแรกพระองค์ท่านทรงขับรถไถนาควายเหล็กเพื่อเตรียมเพาะปลูกข้าว
ตลอดทั้งทรงหว่านข้าว และทรงเก็บเกี่ยวข้าวด้วยพระองค์เอง
ต่อมากรมวิชาการเกษตร
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับสนองพระราชดำริ
โดยได้ปลูกข้าวนาสวนและข้าวไร่ในฤดูฝน
หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ในช่วงฤดูแล้ง
ได้ปลูกพืชตระกูลถั่วหมุนเวียนในนาข้าวด้วย
เพื่อเป็นการบำรุงดิน และสาธิตการปลูกพืชไว้หลังนา
ทำที่นาให้เกิดประโยชน์มากที่สุดในรอบปี
โครงการส่วนพระองค์นาทดลองสวนจิตรลดา
ได้ดำเนินงานติดต่อกันมาเป็นประจำทุกปีมิได้ขาด
ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2504 ถึงปัจจุบัน เมล็ดข้าวต่างๆ
ที่เก็บเกี่ยวได้จากนาทดลองสวนจิตรลดา
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอพระราชทานนำไปใช้สำหรับงานพระราชพิธีฯ
แล้วให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยกรมส่งเสริมการเกษตรนำไปบรรจุซองเล็กๆ จัดเป็นข้าวมงคล
"พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน"
ส่วนเมล็ดถั่วที่เก็บเกี่ยวได้ก็เช่นกันได้ขอพระราชทานนำไปใช้ในโครงการพิเศษอื่นๆ
ผละใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาขยายพันธุ์ของทางราชการ
แล้วส่งไปแจกจ่ายให้พสกนิกรทั่วประเทศ
เพื่อเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพการเกษตรของตนตามประเพณีนิยมสืบไป
|