สมเด็จพระบรมราชินีนาถกับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช    กล้วยไม้ป่าของไทย    บุปผาราชินี    HOME

หน้า 1    2

................................................................................................- 1 -............................................................................................
 

          สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อสนองพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำนุบำรุงแผ่นดินไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ให้มีแต่ความผาสุก ร่มเย็น ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระวิริยะอุตสาหะ และน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา โดยมิได้ทรงย่อท้อต่อความยากลำบากแต่อย่างใด  ทรงทุ่มเทพระวรกายอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ปวงพสกนิกรตลอดมา ด้วยพระอริยาบทอันงดงามผ่อนปรนในลักษณะที่เป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะเสด็จฯ ไปทรงงาน ณ ที่แห่งใด จะทรงแย้มพระสรวลอย่างเป็นกันเอง และพระราชทานพระราชานุญาตให้ราษฎรได้เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด โดยมิได้ถือพระองค์แต่ประการใด ทำให้เหล่าพสกนิกรทั้งปวงรู้สึกปลื้มปิติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างเปี่ยมล้นโดยทั่วกัน
          เมื่อเสด็จฯ ไปทรงงาน ณ พื้นที่แห่งใด ก็จะทรงให้ความสนพระราชหฤทัยในธรรมชาติรอบพระวรกายอยู่เสมอ ทั้งป่าเขาลำเนาไพร ต้นน้ำลำธาร สัตว์ป่าและพันธุ์ไม้ โดยเฉพาะกล้วยไทย ซึ่งทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษอย่างยิ่ง

 

 

 

เอื้องศรีเชียงดาว

ทอดพระเนตรโครงการ

เอื้องกุหลาบน่าน

          สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดที่จะเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพรรณไม้แปลกๆ และที่หายากนานาพันธุ์ โดยเฉพาะกล้วยไม้ไทยต่างๆ แม้ว่าเส้นทางชมธรรมชาติจะค่อนข้างยากลำบาก ต้องลัดเลี้ยวไปตามโขดหินและไม่ราบเรียบ แต่ก็มิได้ทรงย่อท้อแต่ประการใด เมื่อครั้งเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพรรณไม้ป่า ณ บริเวณโคกนกกะบาและลานสุริยัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้ทอดพระเนตรกล้วยไม้ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายมากบริเวณนั้น  และมีกล้วยไม้ชนิดหนึ่งที่กำลังให้ดอกสวยงามและยังไม่มีชื่อเรียกภาษาไทย อีกทั้งยังเป็นกล้วยไม้ป่าหายาก และพบไม่บ่อยนัก  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Eria amica   Rchb.f.  ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า นิมมานรดี
         
นิมานรดี เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ลำลูกกล้วย รูปทรงกระบอก ใบรูปขอบขนานแกมรี ดอกออกเป็นช่อยาว มีขีดตามยามสีแดงเข้ม กลีบปากที่ตอนปลายมีสีเหลืองเข้มและมีแต้มสีแดงเข้มที่โคนกลีบด้านใน ดอกบานเต็มที่กว้าง ๑-๑.๕ ซม.

 

 

 

นิมมานรดี

ทรงงานในพื้นที่

รองเท้านารี

          ด้วยทรงตระหนักดีว่าธรรมชาติคือสายใยแห่งชีวิต ต่างมีความผูกพันและเชื่อมโยงต่อกันอย่างลึกซึ่ง  จึงทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้อันเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ รวมถึงพืชพรรณ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ที่การเปลี่ยนแปลงไปของส่วนใดส่วนหนึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อสมดุลแห่งธรรมชาติอย่างสำคัญ
             ทรงทราบดีว่าดีว่าแผ่นดินไทยผืนนี้ ทั้ง ๕๑๔,๑๒๖ ตารางกิโลเมตร เป็นแผ่นดินทองที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ได้เกื้อกูลทุกชีวิตให้ดำรงอยู่อย่างมีความสุขมาแล้วแต่โบราณกาล  หากแต่ทว่าในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสมดุลแห่งธรรมชาติเริ่มเกิดการเปลี่ยนปลงในทางที่เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว จนน่าใจหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าพรรณพืชของไทยได้ถูกคุกคามอย่างหนักและต่อเนื่อง ทั้งจากภัยธรรมชาติและโดยเฉพาะจากน้ำมือมนุษย์ จึงเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่ง เพราะป่าอันเป็นแหล่งกำเนิดแห่งน้ำและความอุดมสมบูรณ์มีคุณค่าอนันต์แก่ทุกชีวิตกำลังเข้าสู่สภาวะวิกฤติ อันจะเกิดผลกระทบโดยตรงต่องทุกชีวิตอย่างใหญ่หลวง ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติอันทรงคุณค่านานาชนิดก็ยังไม่ได้มีการศึกษาหาประโยชน์อย่างยั่งยืนกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยไม้พื้นเมืองของไทย ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ล้ำค่าที่สุดอย่างหนึ่งของประเทศได้ถูกเก็บหายออกจากแหล่งธรรมชาติในป่าไปเป็นอันมาก จนเกินกว่ากำลังของธรรมชาติจะฟื้นคืนได้  ทั้งๆท ที่การศึกษาในเรื่องของกล้วยไม้ไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้น
          โดยที่ประเทศไทยจัดเป็นศูนย์กลางการกระจายของพรรณพืชที่หลากหลายที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล้วยไม้ป่าที่สวยงามและทรงคุณค่านานาชนิดจึงพบขึ้นอยู่ทั่วไปในบริเวณนี้  กล้วยไม้ไทยที่นักพฤกษศาสตร์ได้สำรวจพบไว้แล้วในขณะนี้ มีจำนวนถึง ๑๗๘ สกุล รวม ๑,๑๒๘ ชนิด เป็นที่นิยมปลูกเลี้ยงกันมานาน มีบันทึกไว้แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่กล่าวถึงการเก็บหาและปลูกเลี้ยงเอื้องชนิดต่างๆ ที่ให้ดอกสวยงาม แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กล้วยไม้ไทยหลายชนิดได้สูญหายไปจากแหล่งกำเนิดจนสังเกตได้และไม่พบว่าได้มีการปลูกเลี้ยงอยู่ ณ ที่ใด จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า กล้วยไม้เหล่านี้หลงเหลืออยู่น้อยในธรรมชาติ หรืออาจจะสูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทยก็เป็นได้ ในเรื่องนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงให้ความสำคัญและความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง

หน้า 1    2

............................................................................................................................................................

        ที่มาของข้อมูล : วารสารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๓ กรกฏาคม-กันยาย ๒๕๔๗ เขียนโดย ดร.วีระชัย ณ นคร