สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่
             Klong Phai Botanical Garden   
 

Dipterocapaceae









ยางนา

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Dipterocarpus alatus Roxb. ex G.Don
วงศ์ :  Dipterocapaceae
ชื่อสามัญ :  Yang

ชื่ออื่น :  กาตีล (เขมร-ปราจีนบุรี); ขะยาง (ชาวบน-นครราชสีมา); จ้อง (กะเหรี่ยง); จะเตียล (เขมร); ชันนา, ยางตัง (ชุมพร); ทองหลัก (ละว้า); ยาง, ยางขาว, ยางนา, ยางแม่น้ำ, ยางหยวก (ทั่วไป); ยางกุง (เลย); ยางควาย (หนองคาย); ยางเนิน (จันทบุรี); ราลอย (ส่วย-สุรินทร์); ลอยด์ (โซ่-นครพนม)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :  ยางเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่มีความสูงประมาณ 40 เมตร ลำต้นตรง เปลือกเรียบสีเทาปนขาว โคนต้นเป็นพูพอน เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ทึบ ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกแบบสลับ รูปไข่แกมรูปหอก กว้าง 8-15 ซม. ยาว 20-35 ซม. ปลายแหลม โคนใบมน เนื้อใบหนา ดอกสีชมพู ออกดอกเป็นช่อสั้นๆ ตามซอกใบและปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็น รูปถ้วย และมีครีบตามยาว 5 ครีบ ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีกลีบ 5 กลีบ ปลายกลีบบิดเบี้ยวแบบกังหัน เกสรตัวผู้ จำนวนมาก ผล รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5-3 ซม. มีครีบยาว 5 ครีบ มีปีกยาว 2 ปีก สั้น 3 ปีก ปีกยาวมี เส้นตามยาว 3 เส้น เกิดตามป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
          ต้นยางนาขึ้นเป็นหมู่ในป่าดิบและตามที่ราบชุ่มชื้นใกล้แม่น้ำลำธารทั่วไป ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 200 – 600 เมตร ออกดอกเดือนมีนาคม – พฤษภาคม  เป็นผล เมษายน – มิถุนายน  ขยายพันธุ์โดยเมล็ด
ประโยชน์ :  ยางเป็นไม้หวงห้าม นิยมนำมาใช้ในการก่อสร้าง คนอีสานใช้น้ำมันจากต้นยางทำขี้กะบอง (ขี้ใต้จุดไฟ) ในทางสมุนไพรน้ำมันจากต้น ใช้ใส่แผล แก้โรคเรื้อน หนองใน น้ำมันผสมกับชันใช้ทาไม้ เครื่องจักรสาน ยาเรือ และใช้เดินเครื่องยนต์แทนน้ำมันขี้โล้ ไม้แปรรูปใช้ทำฝาบ้านเรือน เครื่องเรือน เรือขุดและเรือขนาดย่อม แจว พาย กรรเชียง ใช้ทำไม้อัด