ประวัติความเป็นมา
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน


หน้าหลัก ประวัติความเป็นมา จิตรลดาพฤกษาพรรณ โครงการส่วนพระองค์


            "..ไม่มีพระราชวังไหนในโลกเหมือนพระตำหนักจิตรลดาและบริเวณสวนจิตรลดา ที่เต็มไปด้วยบ่อเลี้ยงปลา และไร่นาทดลอง อีกทั้งผองโคนม ผสมด้วยโรงสีและโรงงานหลายหลาก จึงพูดได้อย่างเต็มปากว่า ในประเทศไทยไม่มีช่องว่างระหว่างเกษตรกรกับพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงทำงานอย่าง "หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน" ด้วยพระองค์เอง..." (คำกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลของ พลอากาศเอก หะริน หงสกุล ประธานรัฐสภา ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2523)
          พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในพระราชวังดุสิตนั้นเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ตั้งอยู่ในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เนื้อที่ประมาณ 395 ไร่ ด้านทิศเหนือจดถนนราชวิถี ทิศตะวันออกจดถนนสวรรคโลก ทิศใต้จดถนนศรีอยุธยา ทิศตะวันตกจดถนนพระราม 5 เป็นพระตำหนักที่มีภูมิทัศน์ร่มรื่นด้วยหมู่ไม้น้อยใหญ่ เขียวขจีด้วยนาข้าว ไร่หม่อน สวนป่า และพรรณไม้นานาชนิด รอบนอกแวดล้อมด้วยคูน้ำทั้งสี่ด้าน สัญลักษณ์ที่บ่งบอกผู้สัญจรไปมาว่าพระมหากษัตริย์ประทับอยู่ ณ ที่นี้คือ ธงมหาราชสีเหลืองที่โบกสะบัดปลิวไสวอยู่บนยอดเสาเหนือพระตำหนัก

เริ่มต้นที่วังสวนดุสิต

          หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากประพาสทวีปยุโรปในปีพุทธศักราช 2440 แล้ว ทรงพระราชดำริว่า ในฤดูร้อนพระบรมมหาราชวังร้อนจัด เพราะมีตึกบังอยู่โดยรอบไม่เป็นที่ลมเดินสะดวก กอปรด้วยพระองค์ท่านเองมีพระราชอัธยาศัยโปรดทรงดำเนินในระยะทางที่พอสมควรแก่พระกำลังที่ทรงสบาย ถ้าประทับอยู่บนพระที่นั่งไม่ได้ทรงพระดำเนินก็ไม่ใคร่ทรงสบาย ทำให้ต้องเสด็จประพาสหัวเมืองเพื่อให้ทรงสำราญพระราชอริยาบทเนืองๆ ก็ทรงพระราชดำริจะให้มีที่ประทับร้อนและทรงพระดำเนินในกรุงเทพฯ ให้เป็นการสะดวกดีได้ตามพระราชประสงค์ทุกเมื่อ จึงได้โปรดให้ซื้อที่สวนและท้องทุ่งนาซึ่งตั้งอยู่ระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงคลองสามเสน ด้านตะวันออกจดทางรถไฟ ด้วยเงินพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ได้เสด็จทอดพระเนตรสถานที่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2441 แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ลงมือตัดถนน ขุดคลอง ทำสะพาน และสร้างพระราชอุทยาน ปลูกไม้ดอก ไม้ผล ไม้ยืนต้น และสร้างพลับพลาที่ประทับแรม ตลอดจนอาคารสถานที่ต่างๆ แล้วพระราชทานนามว่า "สวนดุสิต" และโปรดให้เรียกที่ประทับว่า "วังสวนดุสิต"
          การสร้างวังสวนดุสิต เป็นการขยายพระนครออกไปด้วย โปรดให้ตัดถนนสามเสนไปจดบางกระบือ ตัดถนนราชดำเนินใน ราชดำเนินกลาง ราชดำเนินนอกออกไปจดสวนดุสิต โดยสร้างเป็นถนนขนาดใหญ่อย่างที่เรียกว่าอเวนิว ตามมาตรฐานที่ทำกันในเมืองใหญ่ของยุดรปขณะนั้น แล้วปลูกต้นไม้ตามแนวถนนให้เป็นทางร่มรื่นแก่มหาชนผู้สัญจรไปมา ทำให้เป็นถนนที่งามสง่าที่สุดของพระมหานคร เมื่อพื้นที่สวนดุสิตสามารถติดต่อกับบริเวณภายในพระนครได้สะดวก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จไปประทับแรม ณ วังสวนดุสิตอยู่เนืองๆ ต่อมาโปรดที่จะประทับ ณ วังสวนดุสิตเป็นการถาวร จึงมีการก่อสร้างพระราชมณเฑียรที่ประทับขึ้นหลายครั้งพร้อมทั้งสร้างตำหนักขนาดต่างๆ พระราชทานพระมเหสี พระสนมเอก และพระราชธิดา มีการจัดระเบียบของวังให้เป็นเขตพระราชฐานฝ่ายหน้า ฝ่ายใน โปรดให้ขุดคลองน้อยใหญ่ สร้างสะพาน ถนน สวน จัดเป็นภูมิทัศน์อันร่มรื่น แล้วสร้างกำแพงและประตูรอบอาณาเขต โปรดให้เรียกว่า "พระราชวังสวนดุสิต" และได้เสด็จประทับที่พระราชวังนี้จนตลอดรัชกาล โดยจะเสด็จเข้าไปประทับในพระบรมมหาราชวังเป็นเครั้งคราวเท่านั้น