ประวัติความเป็นมา
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน


หน้าหลัก ประวัติความเป็นมา จิตรลดาพฤกษาพรรณ โครงการส่วนพระองค์


          พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

          หม่อมเจ้าหญิง พูนพิศมัย ดิศกุล ทรงนิพนธ์ไว้ว่า พระราชอัธยาศัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะเสด็จฯ ประทับอยู่ในที่เล็กๆ และเงียบๆ เช่นเดียวกับนักเขียนทั้งหลาย แต่พระราชประสงค์นั้นมิได้เคยเป็นผลสำเร็จเลย ทั้งนี้ เพราะเมื่อทรงพระราชภารกิจมากขึ้น เจ้าหน้าที่ก็ย่อมจะต้องมากขึ้นตามเหตุ อันทำให้ต้องขยายพระตำหนักออกไปเป็นพระราชวังทุกหนทุกแห่งเสมอมา ถึงพุทธศักราช 2456 จึงทรงพระราชดำริหาที่เงียบและไกลจากสังคมใหม่ ก็ได้ที่ทุ่งนาริมถนนซังฮี้ ระหว่างพระราชวังสวนดุสิตกับวังพญาไท เรียกว่า "ทุ่งส้มป่อย" พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาให้ใช้เงินพระคลังข้างที่ซื้อไว้เป็นเนื้อที่ 157,920 ตารางวา แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล จัดสร้างพระตำหนักขึ้นองค์หนึ่ง เพื่อจะใช้เป็นที่รโหฐาน คือเป็นที่สงัดสำหรับทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ ทั้งจะได้เป็นที่ซึ่งราชเสวกจะได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นส่วนพระองค์และส่วนตัว ไม่ใช่อย่างเสด็จออกท้องพระโรงเป็นการพิธี
          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีวางศิลาพระฤกษ์พระตำหนักนั้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2456 ได้พระราชทานนามทุ่งส้มป่อยว่า "สวนจิตรลดา" และพระราชทานนามพระตำหนักว่า "พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน" บริเวณรอบพระตำหนักมีการขุดคูและทำกำแพงรั้วเหล็กโดยรอบ มีประตู 4 ทิศ พระราชทานชื่อตามเจ้าของสวนจิตรลดาและท้าวโลกบาล คือ ทิศตะวันออกชื่อ พระอินทร์อยู่ชม ทิศใต้ชื่อ พระยมอยู่คุ้น ทิศตะวันตกชื่อ พระวรุณอยู่เจน  และทิศเหนือชื่อ พระกุเวนอยู่เฝ้า (ปัจจุบันเป็นทางเข้าออกได้เพียง 3 ทิศ เว้นทิศตะวันออก) มีสะพาน 2 สะพาน มีประตูน้ำ 2 ประตู และมีซุ้มทหารยาม 30 ซุ้ม
          เมื่อพระตำหนักจิตรลดารโหฐานสร้างแล้วเสร็จ โปรดเกล้าฯ ให้มีงานพระราชพิธีราชคฤหมงคล ในวันที่ 14 สิงหาคม พุทธศักราช 2456 หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับเป็นครั้งคราว ถึงเวลามีพระราชพิธีต่างๆ ก็ได้กระทำการนั้นๆ ในพระบรมมหาราชวัง
          ต่อมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้สวนจิตรลดา เป็นพระราชฐานอยู่ในเขตของพระราชวังดุสิตเมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช 2468 แต่คงเรียกว่าสวนจิตรลดาตามเดิม  และในสมัยที่ยังจัดให้มีงานรื่นเริงฤดูหนาวอันเป็นงานรื่นเริงประจำปีสำหรับประชาชน ก็โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายงานวัดเบญจมบพิตร มาใช้อาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ของสวนจิตรลดาเป็นสถานที่จัดงานแทน
          ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างสนามกอล์ฟหลวงสวนจิตรลดาขึ้นภายในบริเวณสวนจิตรลดา สำหรับเสด็จพระราชดำเนินไปทรงออกพระกำลังกาย พระองค์ท่านเคยเสด็จพระราชดำเนินประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานหลายครั้ง โดยครั้งหลังนั้นเป็นการประทับ ก่อนเสด็จฯ ไปรักษาพระองค์ที่ประเทศอังกฤษ และสละราชสมบัติ
          ในรัชสมับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาออนันทมหิดล ตอนหลายสมัยสงครามมหาเอเซียบูรพา กองทัพบกเคยใช้บริเวณอันเงียบสงัดของสวนจิตรลดา เป็นที่ฝึกเสรีไทยก่อนส่งออกไปปฏิบัติการ
          ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดที่จะทรงใช้พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นที่ประทับถาวร จึงได้มีการก่อสร้างต่อเติมพระตำหนักหลายครั้ง เพื่อให้เหมาะกับที่ประทับ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชกุศลราชคฤหมงคลขึ้นที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พุทธศักราช 2500 ต่อมาในปีพุทธศักราช 2501 ได้โปรดเกล้าฯให้สร้างโรงเรียน เพื่อให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ทรงศึกษาเล่าเรียนภายในบริเวณสวนจิตรลดาโรงเรียนหนึ่ง เป็นโรงเรียนราษฎร์อย่างสมบูรณ์ ตามพระราชบัญญํติโรงเรียนราษฎร์ พระราชทานนามว่า "โรงเรียนจิตรลดา" พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้โอรสธิดาของพระบรมวงศานุวงศ์ บุตรธิดาของข้าราชการและข้าราชบริพารเข้าศึกษาในโรงเรียนจิตรลดานี้ด้วย