ความเป็นมาของสวนจิตรลดา

 

 

          พระตำหนักจิตรลดารโหฐานในเขตพระราชวังดุสิต เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ตั้งอยู่ในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส เนื้อที่ประมาณ ๓๙๕ ไร่ ทิศเหนือจดถนนราชวิถี ทิศตะวันออกจดถนนสวรรคโลก ทิศใต้จดถนนศรีอยุธยา ทิศตะวันตกจดถนนพระราม ๕ เป็นพระตำหนักล้อมรอบด้วยสวนที่มีภูมิทัศน์ร่มรื่นด้วยหมู่ไม้น้อยใหญ่เขียวขจี
         พระตำหนักจิตรลดารโหฐานตั้งอยู่ในอาณาเขตที่เป็นสัดส่วนเอกเทศ แต่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเขตพระราชวังดุสิต คำว่าดุสิต เป็นชื่อสวรรค์ชั้นที่ ๔ ในฉกามาพจร (สวรรค์หกชั้น) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาเป็นชื่อเรียกพระราชวังที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพุทธศักราช ๒๔๔๑ ในบริเวณที่สวนและนาระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงคลองสามเสนด้านตะวันออกจดทางรถไฟ ที่เหล่านี้ทรงใช้เงินพระคลังข้างที่หรือพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ทรงซื้อทั้งสิ้น และพระราชทานชื่อพื้นที่ตำบลนี้ว่า "สวนดุสิต" ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างที่ประทับขึ้นเรียกว่า "วังสวนดุสิต" เมื่อโปรดเกล้าให้สร้างพระอนันตสมาคมขึ้น ก็โปรดเกล้าฯ ให้ยกวังสวนดุสิตขึ้นเป็นพระราชวัง ดังความประกาศว่า
วังสวนดุสิต แต่ก่อนทรงสร้างขึ้นเป็นที่ประทับชั่วคราวด้วยเงินพระคลังข้างที่ แต่บัดนี้เป็นที่ทรงพระสำราญ เสด็จไปประทับอยู่เป็นเนืองนิจสืบมาแล้ว ทั้งได้สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นท้องพระโรงขึ้นด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า "พระราชวัง"

เริ่มต้นของพระตำหนักจิตรลดารโหฐานและสวนจิตรลดา
          เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริหาที่สงบเงียบห่างไกลจากสังคมใหม่ ได้ทอดพระเนตรพื้นที่ทุ่งนาริมถนนซังฮี้ (ถนนราชวิถี) ระหว่างพระราชวังดุสิตกับวังพญาไทเรียกว่า "ทุ่งส้มป่อย" และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เงินพระคลังข้างที่ซื้อไว้เป็นเนื้อที่ ๑๕๗,๙๒๐ ตารางวา แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาลจัดสร้างพระตำหนักขึ้นองค์หนึ่ง เพื่อใช้เป็นที่รโหฐานสำหรับทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ ทั้งจะเป็นสถานที่ซึ่งราชเสวกจะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เป็นการส่วนพระองค์ ไม่ใช่อย่างเสด็จออกท้องพระโรงเป็นการพิธี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์พระตำหนักเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖ ได้พระราชทานนามพระตำหนักว่า "พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน" และพระราชทานนามบริเวณทุ่งส้มป่อยว่า "สวนจิตรลดา"
* บริเวณรอบสวนจิตรลดามีการขุดคูและสร้างรั้วโดยรอบ เริ่มแรกเป็นรั้วลวดหนามประกอบด้วยต้นไผ่ตลอดแนว ต่อมาจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นกำแพงอิฐใส่รั้วเหล็ก มีประตู ๔ ทิศ พระราชทานชื่อตามเจ้าของสวนจิตรลดา และท้าวโลกบาล คือ ประตูทิศตะวันออก ชื่อ พระอินทร์อยู่ชม ทิศใต้ พระยมอยู่คุ้น ทิศตะวันตก พระวรุณอยู่เจน และ ทิศเหนือ พระกุเวรอยู่เฝ้า ในปัจจุบันปรากฎทางเข้าออกได้เพียง ๓ ทิศ เว้นทิศตะวันออก  มีสะพาน ๒ สะพาน ประตูน้ำ ๒ ประตู และซุ้มทหารยาม ๓๐ ซุ้ม เมื่อพระตำหนักจิตรลดารโหฐานสร้างแล้วเสร็จ โปรดเกล้าฯ ให้มีงานพระราชพิธีราชคฤหมงคลในวันที่ ๑๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖ ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ จึงโปรดเกล้าฯให้สวนจิตรลดาเป็นพระราชฐานอยู่ในเขตพระราชวังดุสิต แต่คงเรียกว่าสวนจิตรลดาตามเดิม
           ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสนามกอล์ฟหลวง ๙ หลุมขึ้นภายในบริเวณสวนจิตรลดา สำหรับเสด็จพระราชดำเนินไปทรงออกพระกำลังกาย
          ในรัชสมัยสมเด็จพระปรเมนทรมาหอานันทบมหิดล ตอนปลายสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพบกเคยใช้บริเวณอันเงียบสงบของสวนจิตรลดาเป็นที่ฝึกเสรีไทยก่อนส่งออกไปปฏิบัติการ

พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และสวนจิตรลดาในปัจจุบัน
          ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช โปรดที่จะทรงใช้พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นที่ประทับถาวร จึงได้มีการก่อสร้างต่อเติมพระตำหนักหลายครั้ง เพื่อให้เหมาะกับที่ประทับ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชกุศลราชคฤหมงคลขึ้นที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐
          ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๑ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ขึ้นภายในบริเวณสวนจิตรลดา เพื่อให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ทรงศึกษาเล่าเรียน พระราชทานนามโรงเรียนว่า "โรงเรียนจิตรลดา" ทั้งพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้โอรสธิดาของพระบรมวงศานุวงศ์ บุตรธิดาของข้าราชการและข้าราชบริพารเข้าศึกษาในโรงเรียนจิตรลดา ปัจจุบันเปิดโอกาสให้บุตรธิดาของบุคคลภายนอกสอบเข้าศึกษาด้วย
          ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำลองแบบ "เรือนต้น" อันเป็นเรือนไม้ทรงไทยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างไว้ในบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน มาสร้างขึ้นในบริเวณสวนจิตรลดาอีกหลังหนึ่ง (พระตำหนักเรือนต้น) สำหรับเป็นที่จัดงานถวายเลี้ยงแบบไทยในการรับรององค์พระประมุขและพระราชวงศ์ และพระราชทานงานเลี้ยงแก่ประมุขของนานาประเทศที่เสด็จหรือเดินทางมาเยือนไทย
          ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "ศาลาดุสิดาลัย" สำหรับต้อนรับแขกเมืองจำนวนมากที่ไม่สามารถใช้พระตำหนักเรือนต้นเป็นที่รับรองได้
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงสนพระราชหฤทัยในการเกษตรเป็นอย่างมาก ทรงมีพระราชดำริปรับปรุงการเกษตรของชาวนาชาวไร่ที่เป็นพสกนิกรส่วนใหญ่ของประเทศ จึงพระราชทานพื้นที่ในบริเวณเขตพระราชฐานสวนจิตรลดาให้เป็นที่ตั้งของ "โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา" บนพื้นที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่ มีโครงการต่างๆ หลายโครงการ เช่น โครงการป่าไม้สาธิต โครงการนาข้าวทดลอง โครงการเพาะพันธุ์ปลาหมอเทศและปลานิล โครงการปลูกพืชปราศจากดิน โครงการโรงสีข้าวทดลอง โครงการนมสวนจิตรลดา โรงนมผงสวนจิตรลดา ศูนย์รวมนมสวนจิตรลดา โรงนมเม็ดสวนจิตรลดา โครงกาน้ำผลไม้สวนจิตรลดา ฯลฯ  โครงการเหล่านี้เป็นโครงการทดลองและเป็นโครงการตัวอย่างในการเพิ่มผลผลิตและให้ความรู้ทางวิชาการด้านเกษตรและป่าไม้ที่เหมาะกับประเทศไทย เป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร นอกจากนี้ยังมีโครงการศิลปาชีพ ตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
          ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ได้ดำเนินการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อรักษาและเก็บรวบรวมพรรณพืชที่หายากหรือใกล้จะสูญพันธุ์ มีทั้งพืชเศรษฐกิจ เช่น หวาย ขนุน และพืชพรรณพื้นเมืองทั่วไป เพื่อที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการขยายพันธุ์และการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชต่อไป
          พระตำหนักและอาคารที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในบริเวณสวนจิตรลดาในระยะหลังได้แก่ "พระตำหนักใหม่" อันเป็นพระตำหนักเรือนหอที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ กับเรืออากาศโทวีระยุทธ ดิษยะศริน พระสวามี (ยศขณะนั้น) ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๕ อาณาบริเวณส่วนหนึ่งของพระตำหนักใหม่ตั้งอยู่บนพื้นที่สวนพรรณไม้ในวรรณคดี
          อาคารขนาดใหญ่อีกอาคารหนึ่งในเขตพระราชฐานสวนจิตรลดา ได้แก่อาคารชัยพัฒนา เดิมเป็นอาคารทรงงาน สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๐ เพื่อใช้เป็นที่ทรงงานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยความสนพระทัยในการปลูกพืชผักสวนครัวและสมุนไพร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดฯ ทรงงานสวนครัวและสมุนไพรส่วนพระองค์บนดาดฟ้าของอาคารชัยพัฒนา เพื่อทรงนำประสบการณ์ไปใช้ในการพัฒนาโครงการอาหารกลางวัน และโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
          เมื่อมูลนิธิชัยพัฒนาได้จัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๑ อาคารทรงงานส่วนหนึ่งจึงใช้เป็นสำนักงานของมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ตั้งขึ้นโดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนายกกิตติมศักดิ์ มีเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์สำคัญ ก็เพื่อให้การพัฒนาแบบยั่งยืนและสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชน และนำความเจริญมาสู่ประเทศชาติ

 สวนครัวส่วนพระองค์
          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกผักสวนครัวเพื่อตกแต่งดากฟ้าตึกชัยพัฒนา ซึ่งเป็นตึกทรงงานภายในสวนจิตรลดาแทนไม้ดอกไม้ประดับ โดยทรงใช้ภาชนะต่างๆ เป็นภาชนะปลูกดังบทพระนิพนธ์ ของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ที่ว่า
 

     

 

"ทำสวนครั่วทั่วถ้วน
ชาติที่มีกระถาง
โถถังตุ่ม  รังราง
กระบะกระชุครุใช้

ทิศทาง   เถิดไทย
ปลูกได้
โอ่งอ่าง  ไหเอย
ปลูกสร้างสวนครัว"

    ซึ่งโปรดให้เขียนป้ายติดไว้และให้มีป้ายบอกชื่อพืช พร้อมทั้งสรรพคุณไว้ทุกต้นด้วย

 

หน้าหลัก ประวัติความเป็นมา จิตรลดาพฤกษาพรรณ โครงการส่วนพระองค์